พระราชสมภพ

  สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พระราชสมภพเมื่อวันอาทิตย์ที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2443 ทรงเป็นบุตรคนที่ 3 ของพระชนกชู และพระชนนีคำ ทรงมีพระภคินีและพระเชษฐา 2 คน ซึ่งได้ถึงแก่กรรมเสียตั้งแต่ยังเยาว์วัย เหลือแต่พระอนุชา คือคุณถมยา ซึ่งอ่อนกว่าสมเด็จย่า 2 ปี ได้มีชีวิตอยู่ต่อมาจนโต ส่วนพระชนกชูนั้น ได้ถึงแก่กรรมเมื่อสมเด็จย่ายังทรงพระเยาว์มาก และเมื่อพระองค์มีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา พระชนนีคำก็ถึงแก่กรรม หลังจากนั้นทรงอยู่ในความอุปการะของป้าซ้วย พี่สาวของพระชนนีคำ ซึ่งมีอาชีพรับจ้างมวนบุหรี่และทำขนมขาย


นิวาสสถาน
  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงบรรยายถึงบ้านข้างวัดอนงคารามไว้ในหนังสือพระนิพนธ์เรื่อง “แม่เล่าให้ฟัง” ว่า “เมื่อจำความได้ แม่ก็อยู่ที่ธนบุรีแล้วที่ซอยซึ่งปัจจุบันเป็นซอยวัดอนงค์ “บ้าน” นั้นเหมือนห้องแถวชั้นเดียวแต่มีหลายห้อง แทนที่จะเป็นห้องเดียว “บ้าน” จะเป็นส่วนหนึ่งของอาคารที่ก่อด้วยอิฐ หลังคาเป็นกระเบื้อง และประกอบด้วยหลายชุด อีกด้านหนึ่งของบ้าน มี 4-5 ชุด ซึ่งมีคนอยู่ อีกด้านหนึ่งพังไปแล้วและร้าง บ้านที่อยู่นั้นเก่าพอใช้ และอยู่ในสภาพไม่ดีเพราะไม่มีการซ่อมแซมเลย แต่มีเพียงกำแพง ผนัง และหลังคา ทุกสิ่งทุกอย่างที่เป็นไม้ เช่น พื้นนั้นผู้เช่านำมาเอง”

 

การศึกษาเมื่อทรงพระเยาว์

  

เป็นที่รู้กันว่าในสมัยก่อน  คนไทยไม่นิยมให้ผู้หญิงเรียนรู้หนังสือ  พระชนนีคำเป็นคนเดียวในบรรดาพี่น้องที่รู้หนังสือและนำมาถ่ายทอดให้สมเด็จย่า  ซึ่งนับได้ว่าเป็นรากฐานที่สำคัญในกาลต่อมา

  ต่อมาสมเด็จย่าได้เข้าเรียนในโรงเรียนสำหรับเด็กหญิง  ที่ตั้งที่วัดอนงคาราม  ทรงเรียนอยู่ไม่ถึงปีโรงเรียนก็ปิด  พระองค์จึงเข้าเรียนที่โรงเรียนศึกษานารีทรงเรียนอยู่ได้เดือนกว่าๆ เท่านั้น  ก็ทรงลาออก  เพราะทางบ้านไม่มีเงินพอที่จะเสียค่าเล่าเรียน  ด้วยพระอุปนิสัยที่ชอบการเรียนรู้และการอ่านหนังสือตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์  สมเด็จย่าจึงทรงเฉลียวฉลาดและมีคุณลักษณะโดดเด่น  ในบรรดาผู้อยู่ในวัยเดียวกัน

  เมื่อสมเด็จย่าพระชนมายุได้ 7-8 พรรษา ได้ถวายตัวเป็นข้าหลวงชั้นสองใน สมเด็จเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร  และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี  พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า  ต่อมาสมเด็จย่าทรงเป็นนักเรียนประจำที่โรงเรียนของหม่อมเจ้าหญิงมัณฑารพ  กมลาศน์    เมื่อโรงเรียนเลิกกิจการในอีก 1 เดือนต่อมา  ก็เสด็จไปทรงศึกษาต่อยังโรงเรียนแห่งหนึ่ง ที่อยู่ใกล้กับพระบรมมหาราชวัง  ซึ่งอีก 2-3 เดือนต่อมาโรงเรียนก็ปิดกิจการอีก  จึงเสด็จไปทรงศึกษายังโรงเรียนสตรีวิทยา  โดยให้ไปประทับอยู่บ้านคุณหวน  หงสกุล  ที่อยู่ข้างวัดมหรรณพาราม  คุณหวนเป็นพระพี่เลี้ยงในสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ  เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์  พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  และสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า  ในระหว่างนั้น  สมเด็จย่าทรงถูกเข็มเย็บผ้าตำฝ่าพระหัตถ์  จึงทรงย้ายไปประทับที่บ้านพระยาดำรงแพทยาคุณ  เพื่อผ่าตัดฝ่าพระหัตถ์

  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์   ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ “แม่เล่าให้ฟัง” ว่า
“...ในระหว่างที่เรียนซ้ำชั้นประถมปีที่ 3 อยู่ เจ้าคุณดำรงฯ มาถามแม่ว่า อยากเรียนเป็นนางพยาบาลไหม แม่รับทันที ในสมัยนั้นผู้หญิงไม่มีอาชีพที่จะเลือกมากนัก  เมื่อจบประถมปีที่ 3 แล้วจะมีชั้นมัธยมปีที่ 1 ถึงปีที่ 3 เท่านั้น  ถ้าอยากเรียนต่อก็ต้องเรียนเป็นครู  เวลานั้นโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราชมีผู้หญิงเรียนอยู่น้อย ในการเข้าไม่มีกฎเกณฑ์มาก  เพียงแต่อ่านออกเขียนได้ก็พอแล้ว  เพื่อสนับสนุนให้มาเรียน  ยังมีการให้เงินเดือนละ 15 บาทต่อคน  จำนวนเงินนี้เพียงพอสำหรับค่าอาหารตลอดทั้งเดือน”

  การที่สมเด็จย่าทรงตัดสินพระทัยเข้าโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราชในครั้งนี้  นับว่าเป็นหัวเลี้ยวสำคัญในชีวิตของพระองค์  เพราะกาลเวลาต่อมา  ทรงได้รับทุนไปศึกษาต่อ ณ ประเทศสหรัฐอเมริกา

 

นักเรียนพยาบาล

สมเด็จย่าทรงเข้าศึกษาวิชาพยาบาลที่โรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราชเมื่อ พ.ศ. 2456  ซึ่งขณะนั้นสมเด็จย่าอายุยังไม่ครบ 13 พรรษาบริบูรณ์ ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ระบุไว้ถึง 2 ปี  แต่เนื่องจาก  มีความสามารถเกินวัย  จัดได้ว่าเป็นนักเรียนที่อายุน้อยที่สุดในรุ่น

  สมเด็จย่าทรงเป็นนักเรียนประเภทนักเรียนหลวง คือผู้ที่สมัครเข้าเรียนโดยขอรับเงินบำรุงเดือนละ 15 บาท และมีข้อผูกพันว่าเมื่อสำเร็จสอบได้ประกาศนียบัตรแล้ว  ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับโรงเรียนไม่น้อยกว่า 3 ปี  ทรงเรียนจบหลักสูตรใน พ.ศ. 2459 และทรงทำงานต่อที่โรงพยาบาลศิริราช

 

  ในปี พ.ศ. 2460  สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์  ซึ่งขณะนั้นกำลังทรงศึกษาวิชาแพทย์ปีที่ 1  อยู่ที่โรงเรียนแพทย์มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  ประเทศสหรัฐอเมริกา  พระราชทานทุนแก่นักเรียนแพทย์ 2 คน และสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า  พระราชทานทุนแก่นักเรียนพยาบาล  2 คน  ซึ่งผู้ที่ได้รับคัดเลือกก็คือ  นางสาวอุบล  ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา  และสมเด็จย่า

  ในระยะเวลา 6 เดือน  ทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับอาจารย์ใหญ่โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง  เป็นสตรีชาวอเมริกันชื่อมิสเอ็ดนา  ซาราห์  โคล

  ในการที่จะเดินทางไปต่างประเทศ  จำเป็นต้องมีนามสกุลใช้ในหนังสือเดินทาง  เมื่อพระชนกชูถึงแก่กรรม ไม่มีผู้ใหญ่ฝ่ายชายที่จะไปจดทะเบียนนามสกุล  พระองค์จึงทรงใช้นามสกุลของขุนสงขลานครินทร์ (หลี  ตะละภัฏ)

  ในการเดินทางไปสหรัฐอเมริกา  สมเด็จย่าเสด็จโดยสารเรือ “กัวลา”  เมื่อวันที่  23  สิงหาคม  พ.ศ. 2460  พร้อมคณะนักเรียนจำนวนทั้งสิ้น 18 คน  ใช้เวลาเดินทาง 6 สัปดาห์  จึงเสด็จถึงนครซานฟรานซิสโก  รัฐแคลิฟอร์เนีย

  สมเด็จย่าได้ไปพำนักอยู่กับครอบครัวนายแพทย์อดัมเสนเป็นเวลาเกือบ 1 ปี  ได้เสด็จไปศึกษาที่โรงเรียนประถมเอเมอร์สันพร้อมกับนางสาวอุบล  และทุกวันอาทิตย์พระองค์จะเสด็จเข้าโรงเรียนของคริสต์ศาสนา

  ต่อมาใน พ.ศ. 2461  สมเด็จย่าและนางสาวอุบล  ได้ร่วมสมทบกับคณะนักเรียนไทยอีก 8 คน  เดินทางไปยังเมืองบอสตัน  รัฐแมสซาชูเซตส์  โดยรถไฟในวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2461  สมเด็จพระบรมราชชนกทรงคอยรับคณะนักเรียนอยู่ ณ ที่นั่น  ในตอนแรก  สมเด็จย่าไม่ทรงรู้จักว่าพระองค์เป็นใคร  ส่วนสมเด็จพระบรมราชชนกนั้น  หลวงสุขุม นัยประดิษฐ์ได้บันทึกเหตุการณ์คืนวันนั้นไว้ว่า  “ประมาณสักตีสองเศษ...พระองค์ท่านเสด็จกลับมาถึงบ้าน ปลุกข้าพเจ้าทันที แล้วรับสั่งว่า ผู้หญิง 2 คนมาถึงแล้ว แม่สังวาลย์สวยเช้งเชียวแกเอ๋ย”

 

อภิเษกสมรส

  ในพระนิพนธ์ “แม่เล่าให้ฟัง” ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล่าถึงความสนพระทัยของสมเด็จพระบรมราชชนกที่มีต่อสมเด็จย่า  และมักเสด็จไปทรงเยี่ยม ณ ที่ประทับเมืองฮาร์ดฟอร์ด  พระราชกรณียกิจในยามว่างของทั้งสองพระองค์  ได้บ่งบอกถึงพระอุปนิสัยที่สอดคล้องต้องกันในความสนพระราชหฤทัยเรื่องต้นไม้  ดอกไม้และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

 เมื่อเวลาผ่านไป  เป็นที่รู้กันทั่วไปในหมู่นักเรียนไทยในสหรัฐอเมริกาว่า  สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์  ทรงพอพระทัยในนางสาวสังวาลย์  ตะละภัฏ  นักเรียนสาวผู้งามพร้อมด้วยรูปโฉมและอุปนิสัยร่าเริง  โดยมิได้คำนึงถึงพระชาติวุฒิแต่อย่างใด  ในที่สุดทรงมีลายพระหัตถ์กราบบังคมทูลสมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าขอพระราชทานพระราชานุญาตหมั้นกับนางสาวสังวาลย์

  ใน พ.ศ. 2462  สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์จึงได้ทรงหมั้นกับนางสาวสังวาลย์อย่างเงียบๆ ด้วยแหวนเพชรน้ำงามเกาะด้วยหนามเตยสลักเป็นรูปหัวใจ  ในอีก 30 ปีต่อมา  สมเด็จย่าได้พระราชทานแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรเพื่อทรงหมั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์  กิติยากร พระนามเดิมของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 

  พอถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. 2462  สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถสวรรคต  สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์จึงเสด็จกลับประเทศไทย  และได้ทรงอภิเษกสมรสกับนางสาวสังวาลย์  ตะละภัฏ  ที่วังสระปทุม เมื่อวันที่  10  กันยายน  พ.ศ. 2463  โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนิน  ทรงเป็นองค์ประธานพระราชทานน้ำสังข์ด้วยพระองค์เอง

 

ศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2463 – 2464

หลังจากอภิเษกสมรสแล้ว  สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จประพาสเมืองต่างๆ ในทวีปยุโรปและเสด็จต่อไปยังสหรัฐอเมริกาเพื่อศึกษาต่อ  สมเด็จพระบรมราชชนกทรงศึกษาวิชาสาธารณสุขศาสตร์  ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  และสถาบันเอ็มไอที  เมืองบอสตัน  และทรงจัดให้สมเด็จย่าทรงศึกษาหลักสูตรเตรียมพยาบาลที่มหาวิทยาลัยซิมมอนส์  เมืองบอสตัน และเสด็จไปเรียนการสาธารณสุขเกี่ยวกับโรงเรียนในภาคฤดูร้อนที่สถาบันเอ็มไอที  ขณะที่ประทับ ณ เมืองบอสตัน ทั้งสองพระองค์ทรงใช้พระนามว่า นายและนางมหิดล  สงขลา อย่างสามัญชน  นอกจากนั้น  ยังทรงช่วยกิจการของสมาคมสยาม ณ สหรัฐอเมริกา

 

พระธิดาพระองค์แรก

  หลังจากที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงจบการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรสาธารณสุขใน พ.ศ. 2464  สมเด็จย่าก็ได้ตามเสด็จกลับกรุงเทพฯ ผ่านทางยุโรปเพื่อท่องเที่ยวและทรงดูงานไปพร้อมกัน  เช่น  เสด็จไปทรงดูงานที่โรงพยาบาลผดุงครรภ์ควีนแมรี่  ประเทศอังกฤษ 1 สัปดาห์  การเสด็จกลับกรุงเทพฯ ครั้งนี้  ก็เพื่อเตรียมการตามเสด็จสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร  พระเชษฐภคินีของสมเด็จพระบรมราชชนก  ซึ่งประชวรพระวักกะและเสด็จรับการผ่าตัดที่ประเทศอังกฤษ  ใน พ.ศ. 2465  จากนั้นได้เสด็จพักฟื้นที่ประเทศฝรั่งเศส

ขณะประทับอยู่ที่กรุงปารีส  สมเด็จพระบรมราชชนกประชวร  สมเด็จย่าจึงทรงเฝ้าดูแลพระอาการ  เมื่อหายประชวรแล้วก็ได้ตามเสด็จยังสกอตแลนด์  เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์ที่เมืองเอดินเบอระ  แต่เนื่องจากอากาศหนาวมาก  ทำให้ทรงประชวรจึงต้องทรงเลิกเรียน  ระหว่างนั้นสมเด็จย่าได้ประสูติพระธิดาพระองค์แรก  เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม  พ.ศ. 2466  ที่กรุงลอนดอน  ประเทศอังกฤษ  พระธิดาได้รับพระราชทานนามจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า “หม่อมเจ้าหญิงกัลยาณิวัฒนา มหิดล”  เนื่องจากสมเด็จย่า  ในขณะนั้นยังคงเป็นหม่อมสังวาลย์  มหิดล  ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว   รัชกาลที่ 7 จึงทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้า ใน พ.ศ. 2470  และใน พ.ศ. 2478  ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  ทรงได้รับการเฉลิมพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอเจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา และทรงได้รับการสถาปนาพระอิสริยศักดิ์เป็นสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ  เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา  กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  เมื่อ พ.ศ. 2538  ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

 

เสด็จกลับเมืองไทย พ.ศ. 2466

  ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2466  สมเด็จย่าพร้อมด้วยพระธิดาได้ตามเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนกกลับเมืองไทย  เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมราชชนกทรงดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมมหาวิทยาลัย ในปีต่อมาได้ทรงเปลี่ยนไปรับตำแหน่งข้าหลวงสำรวจการศึกษาทั่วไป  สมเด็จย่าจึงทรงมีโอกาสตามเสด็จยังจังหวัดเชียงใหม่เพื่อทรงเปิดโรงพยาบาลแมคคอร์มิคของมิชชันนารีคณะอเมริกันเพลสไบทีเรียน และศูนย์อนามัยของสภากาชาด

 

พระโอรสพระองค์แรก

  หลังจากประทับที่กรุงเทพฯ นาน 20 เดือน  สมเด็จย่าก็ได้ตามเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนก  ไปยังทวีปยุโรปอีกครั้งหนึ่ง  ทั้งนี้เพื่อสมเด็จพระบรมราชชนกจะได้ทรงพักผ่อนรักษาพระองค์ตามที่แพทย์ถวายคำแนะนำให้ประทับในที่อากาศเย็น  เพราะทรงตรากตรำทรงงานหนักจนพระพลานามัยเสื่อมโทรม  การเสด็จยุโรปครั้งนี้  ได้ทรงพาพระธิดาไปประทับที่เมืองไฮเดลเบอร์ก  ประเทศเยอรมัน  โดยมีพระพี่เลี้ยงคือ  นางสาวเนื่อง  จินตดุล  ซึ่งเคยเป็นพระสหายร่วมชั้นเรียนในโรงเรียนแพทย์ผดุงครรภ์และหญิงพยาบาลแห่งศิริราชตามเสด็จด้วย

  ณ เมืองไฮเดลเบอร์ก  สมเด็จย่าได้ประสูติพระโอรสพระองค์แรก  เมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2468  ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว  พระบรมอัยกา  จึงยังความปลาบปลื้มใจปีติยินดีแก่สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเป็นยิ่งนัก  เมื่อทรงทราบข่าวการประสูติของพระราชนัดดา  และต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้พระราชทานพระนามว่า “หม่อมเจ้าอานันทมหิดล” 

 

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์

  ในวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคต  สมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จกลับกรุงเทพฯ เพียงพระองค์เดียว  เพื่อถวายพระเพลิงพระบรมศพและประทับอยู่จนถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ระหว่างนั้นสมเด็จย่าได้เสด็จประทับอยู่กับพระธิดาและพระโอรสพระองค์น้อย  ซึ่งมีพระชนมายุประมาณ 2 เดือน ที่กรุงปารีส  ประเทศฝรั่งเศส  จากนั้น  ได้ทรงพาพระโอรสพระธิดาเสด็จประทับที่เมืองโลซาน  ประเทศสวิตเซอร์แลนด์  และทรงส่งพระธิดาไปประทับที่สถานรับเลี้ยงเด็กแห่งหนึ่งที่ดูแลเด็กอย่างถูกอนามัย  ชื่อ  ชองโซเลย์ (Champ Soleil)  พระองค์เองทรงประทับอยู่ที่โรงแรมเล็กๆ ชื่อมอนตานา  ซึ่งไม่ใหญ่นัก  เมื่อพระโอรสทรงอดพระกษิรธาราแล้ว  สมเด็จย่าจึงทรงส่งให้ไปประทับที่ซองโซเลย์  พร้อมด้วยพระพี่เลี้ยงเนื่อง

 

เสด็จสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2469

  เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จกลับกรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2469 ก็ได้เสด็จไปประทับที่เมืองโลซานกับครอบครัวของพระองค์  จากนั้นได้เสด็จล่วงหน้าไปยังสหรัฐอเมริกา  เพื่อทรงหาที่ประทับสำหรับครอบครัว  ซึ่งได้ทรงเลือกเช่าแฟลต  เลขที่ 63 ถนนลองวูด  บรูคลายน์ ชานเมืองบอสตัน   “ตำนานบรูคลายน์” ในเวลานั้น  ได้เป็นศูนย์กลางของนักเรียนไทยในบอสตันและเมืองใกล้เคียง  โดยโปรดให้มาเฝ้าฯ พระราชทานเลี้ยงอาหารไทยและคำแนะนำต่างๆ ที่เป็นประโยชน์  ระหว่างประทับที่เมืองบอสตัน  สมเด็จพระบรมราชชนกได้ทรงเรียนแพทย์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด  ส่วนสมเด็จย่าได้ทรงเรียนวิชาจิตวิทยา  การทำอาหารและโภชนาการที่วิทยาลัยซิมมอนส์ระยะหนึ่ง  นอกจากนั้นได้ทรงดูแลพระโอรสธิดา  และทรงรับส่งพระธิดาซึ่งทรงเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนพาร์ค (Park School)

 

พระโอรสพระองค์ที่ 2  

  สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  มีพระสูติกาลพระโอรสองค์ที่สอง ณ โรงพยาบาลเมาท์ออเบิร์น  เมืองเคมบริดจ์  เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2470  ได้รับพระราชทานพระนามจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า  “พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดช” เหตุที่ทรงดำรงพระยศเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า

ทันทีเมื่อแรกประสูติ  เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ  ตั้งแต่วันที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2470 ให้สถาปนาหม่อมเจ้า อันเป็นพระโอรสธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าซึ่งพระชนนีทรงศักดิ์ชั้นสมเด็จ  และประสูติแต่มารดาที่มิได้เป็นเจ้า  ขึ้นดำรงพระยศเป็นพระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้า พระโอรสพระธิดาสองพระองค์แรกในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์  และหม่อมศรีสังวาลย์จึงได้เลื่อนพระยศเป็นวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าในคราวนั้น  พร้อมกับหม่อมเจ้าในสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์อื่น  อีกหลายองค์

 

สมเด็จพระบรมราชชนกสิ้นพระชนม์

  ขณะที่ทรงศึกษาวิชาแพทย์ปีสุดท้าย  สมเด็จพระบรมราชชนกทรงประชวรโรคพระวักกะกำเริบและพระโรคหวัด  แต่ก็ทรงสามารถสอบไล่ได้ปริญญาแพทย์ศาสตร์ชั้นเกียรตินิยม  หลังจากสอบเสร็จก็ทรงประชวรพระโรคไส้ติ่งอักเสบ  ต้องทรงรับการผ่าตัด  สมเด็จย่าได้เฝ้าดูพระอาการอย่างใกล้ชิด  เมื่อเสด็จพระดำเนินได้แล้วทรงเสด็จพร้อมพระโอรสพระธิดาเสด็จประทับอยู่ที่ยุโรประยะหนึ่ง  จึงทรงเสด็จนิวัติสู่ประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายน

  ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2472 โรงพยาบาลแมคคอร์มิคกราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระบรมราชชนกเสด็จไปเป็นแพทย์ประจำบ้าน  ที่เชียงใหม่  โดยเสด็จไปพระองค์เดียว  เพราะตั้งพระทัยว่า  เมื่อทรงหาที่ประทับได้เหมาะสมแล้วจึงจะทรงพาครอบครัวเสด็จไปประทับด้วย  ในเดือนต่อมา  ทรงมีภารกิจบางประการต้องเสด็จกลับกรุงเทพฯ  แต่หลังจากนั้นไม่กี่วันก็มีพระอาการประชวรและต้องประทับรักษาพระองค์

  สมเด็จพระบรมราชชนกประชวรอยู่เป็นเวลา 4 เดือน  ก็สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2472  ณ พระตำหนักใหม่  วังสระปทุม

  เมื่อสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์สิ้นพระชนม์  สมเด็จย่าทรงมีพระชนมายุเพียง 29 พรรษา  จะต้องทรงรับหน้าที่อบรมเลี้ยงดูพระโอรสธิดาทั้งสามพระองค์ตามลำพัง  ขณะนั้นพระธิดาองค์โตทรงมีพระชนมายุ 6 พรรษา  พระโอรสองค์ที่ 2 เพิ่งมีพระชนมายุครบ 4 พรรษาบริบูรณ์เมื่อวันที่ 20 กันยายน 4 วันก่อนที่สมเด็จพระบรมราชชนกจะสิ้นพระชนม์  ส่วนพระโอรสองค์สุดท้องมีพระชนมายุเพียง 1 พรรษา 9 เดือน

  สมเด็จย่าทรงดูแลพระโอรสพระธิดาอย่างใกล้ชิดไม่ว่าจะเป็นด้านการเสวย  บรรทม  เล่น  หรือการศึกษาเล่าเรียน  ซึ่งขณะนั้นสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์พระธิดาพระองค์ใหญ่ทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนราชินี  เมื่อพระโอรสทั้งสองพระองค์เจริญพระชนมายุขึ้นก็โปรดให้ทรงเข้าศึกษาตามลำดับ  โดยพระโอรสองค์แรกทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลที่โรงเรียนมาแตร์เดอี  แล้วทรงย้ายเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนเทพศิรินทร์  พระโอรสองค์ที่สองทรงเริ่มศึกษาชั้นอนุบาลที่โรงเรียนมาแตร์เดอี

  เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 คณะราษฎรก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศเป็นระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  สถานการณ์บ้านเมืองผันแปรไปส่งผลต่อสถานภาพของพระบรมวงศานุวงศ์  และข้าราชการบางกลุ่ม  พระบรมวงศานุวงศ์จำนวนมากและข้าราชการบางส่วนต้องออกจากราชการ  เจ้านายหลายพระองค์เสด็จออกจากประเทศไทยไปประทับในต่างแดน

  สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า  ทรงปรึกษากับสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร  พระราชธิดาและพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมขุนชัยนาทนเรนทร  ถึงการศึกษาของพระราชนัดดาที่จะทรงมีต่อไป  ในเวลาที่พระราชนัดดาองค์ที่สองยังทรงพระเยาว์อยู่นั้น  พระอนามัยไม่สู้แข็งแรงมาตลอด  จึงเป็นที่ตกลงว่าควรจะเสด็จไปศึกษาต่อยังประเทศซึ่งมีอากาศสบายๆ ดังนั้นพระเจ้าบรมวงศ์เธอ  กรมขุนชัยนาทนเรนทร  จึงทรงแนะนำว่าควรเลือกเมืองโลซานเป็นที่ประทับ สมเด็จย่าก็ทรงพอพระทัย  เพราะนอกจากจะเป็นเมืองที่มีอากาศดี  ภูมิประเทศสวยงามและพลเมืองอัธยาศัยดีแล้ว  ยังเป็นเมืองที่สมเด็จพระบรมราชชนกโปรดมากอีกด้วย 

  หลังจากที่ตระเตรียมการทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว  ต้นเดือนเมษายน พ.ศ. 2476  สมเด็จย่าพร้อมด้วยพระโอรสพระธิดา  พระพี่เลี้ยงเนื่อง  เด็กหญิงบุญเรือน  โสพจน์  พระญาติ (ปัจจุบันคือ  ท่านผู้หญิงบุญเรือน  ชุณหะวัณ)  และคุณพระสุทธิอรรถนฤมลกับภรรยา  ได้ออกเดินทางจากประเทศไทยไปสู่เมืองโลซาน  ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

 

พระราชปิโยรสเสด็จขึ้นครองราชย์

  การเสด็จไปประทับที่สวิตเซอร์แลนด์คราวนี้  สมเด็จพระบรมราชชนนีต้องทรงเป็นหัวหน้าครอบครัวน้อยๆ ของพระองค์  ทรงพาพระโอรสธิดาประทับอยู่ที่แฟลตเลขที่  16  ถนนติสโซต์ (Tissot)  และโปรดให้เสด็จศึกษาที่โรงเรียนประถมชื่อเมียร์มองต์ (Miremont) ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2476

  อีกหนึ่งปีต่อมา  คือ ใน พ.ศ. 2477  ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ของชาติไทย  กล่าวคือ  เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสละราชสมบัติ  โดยทรงสละพระราชสิทธิ์ในการแต่งตั้งผู้สืบราชสมบัติ  และทรงเห็นควรว่าต้องให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล

  ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร  ครั้งที่ 33/2477  วันที่ 6-7 มีนาคม พ.ศ. 2477  ได้มีมติเห็นชอบตามกฎมณเฑียรบาลซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงบัญญัติขึ้นใน  พุทธศักราช  2467  ลำดับเชื้อพระบรมวงศ์ผู้ควรสืบพระราชสันตติวงศ์  คือ  พระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าอานันทมหิดล  พระโอรสในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์  ดังนั้น  พระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าอานันทมหิดล  จึงทรงได้รับการสถาปนาเป็นพระมหากษัตริย์  สืบพระราชสันตติวงศ์เป็นพระองค์ที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์  ตั้งแต่วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477

  เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์  มีพระชนมายุเพียง 9 พรรษา  สภาผู้แทนราษฎรจึงได้มีมติให้ตั้ง  พระเจ้าวรวงศ์เธอ  กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์  พระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา  และเจ้าพระยายมราช  (ปั้น  สุขุม)  เป็นคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

  สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  ทรงบันทึกเหตุการณ์สำคัญในปลายปีพุทธศักราช 2477  ว่า “เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477 (ค.ศ. 1935) มีเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้ชีวิตธรรมดาๆ ต้องเปลี่ยนไปบ้าง  พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ  และรัฐบาลได้อัญเชิญพระวรวงศ์เธอ  พระองค์เจ้าอานันทมหิดลเสด็จขึ้นครองราชย์สืบราชสันตติวงศ์  น้องชายคนเล็กและข้าพเจ้าก็เปลี่ยนจากพระองค์เจ้าเป็นเจ้าฟ้า  แม่ก็ยังคงเป็นคนธรรมดาอยู่  แต่เนื่องจากเป็นพระราชมารดาของพระเจ้าแผ่นดิน  ก็ตั้งขึ้นเป็นพระราชชนนี  และเพื่อให้คล้องกับคำว่าชนนี  ชื่อแม่เลยเปลี่ยนไปเป็น “ศรีสังวาลย์”  แทนสังวาลย์  “พระราชชนนีศรีสังวาลย์” 

  เมื่อพระโอรสเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ไทยพระองค์แรกในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  การถวายพระอภิบาลและอบรมพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่  จึงเป็นพระราชภารกิจยิ่งใหญ่ที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีต้องทรงรับไว้โดยลำพัง  เนื่องจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังทรงพระเยาว์  และทรงศึกษาอยู่ในต่างประเทศ

  เพื่อให้สมพระเกียรติของพระราชปิโยรส  สมเด็จพระบรมราชชนนีจึงต้องทรงย้ายที่ประทับจากแฟลตที่ถนนติสโซต์ไปประทับที่บ้านเช่าค่อนข้างใหญ่ ณ เมืองปุยยี (Pully)  ซึ่งเป็นเมืองเล็กๆ อยู่ใกล้กับเมืองโลซาน  ทรงตั้งชื่อว่า “วิลล่าวัฒนา”

  การดำเนินพระชนม์ชีพ ณ พระตำหนักวิลล่าวัฒนา  สมเด็จพระบรมราชชนนีโปรดที่จะให้เป็นไปอย่างสามัญไม่มีพิธีรีตอง  ทรงจัดให้พระโอรสทั้งสองพระองค์ศึกษาที่โรงเรียนเอกชนเอกอล  นูเวล เดอ ลาสวิส โรมองด์ (Ecole Novelle de la Suisse Romande)  ซึ่งรับนานาชาติ  แม้พระโอรสพระองค์ใหญ่ทรงเป็นยุวกษัตริย์แห่งประเทศสยาม  แต่ก็ทรงเป็น “นักเรียนอานันทมหิดล” บุตรชายของ “มาดาม ส.มหิดล” ทรงมีสิทธิ์และหน้าที่ไม่แตกต่างจากนักเรียนคนอื่นๆ  สมเด็จพระบรมราชชนนีได้ทรงเอาพระทัยใส่  ดูแลพระพลานามัยและระเบียบวินัยของพระโอรสพระธิดาอย่างดีเยี่ยมและสม่ำเสมอ

 

เสด็จนิวัติพระนคร

  หลังจากที่เสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นเวลา 3 ปีเศษ  ใน พ.ศ. 2481  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  พร้อมด้วยสมเด็จย่า  พระเชษฐภคินี  และพระราชอนุชา  ก็ได้เสด็จนิวัติพระนคร  เพื่อทรงเยี่ยมเยียนพสกนิกรของพระองค์เป็นครั้งแรก  เมื่อเสด็จฯ สู่พระนครได้ 1 วัน  คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว  ได้ประกาศสถาปนาพระอิสริยยศพระราชชนนีศรีสังวาลย์ขึ้นเป็นครั้งแรก  “สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์”  เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2481

  ตลอดเวลา 2 เดือนที่ประทับอยู่ในพระนคร  ผู้ที่มีโอกาสได้เฝ้าชมพระบารมี  ต่างปลื้มปีติและชื่นชมในพระจริยวัตรของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์น้อยยิ่งนัก  ต่างเห็นพ้องต้องกันว่า  ผู้ที่มีส่วนสำคัญที่ทรงเพียรปลูกฝังอบรมพระกิริยาอัชฌาสัยของยุวกษัตริย์ไทยให้งดงามเหมาะสม  คือ  สมเด็จย่า

  โดยที่ทรงเห็นว่า  พระโอรสทรงพระเยาว์  ความรู้เรื่องเมืองไทยมีน้อย  สมเด็จย่าจึงทรงขอให้กระทรวงธรรมการ  (ปัจจุบัน คือ กระทรวงศึกษาธิการ)  จัดการรายการเสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรพระอารามและโบราณสถานที่สำคัญในเขตพระนครและธนบุรี เพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรมของชาติ

  นอกจากนี้  สมเด็จย่ายังทรงชักจูงให้พระโอรสพระธิดาทรงใฝ่ในการกุศล  ช่วยเหลือการสาธารณสุขและการแพทย์  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานเงินส่วนพระองค์สร้างโรงพยาบาลอานันทมหิดล  ที่จังหวัดลพบุรี  พระราชอนุชาและพระเชษฐภคินีพระราชทานเงินสร้างสุขศาลา  ที่จังหวัดสมุทรสาคร  

  ครั้นถึงวันที่ 14 มกราคม พ.ศ. 2481  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล  เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จย่า  พระเชษฐภคินีและพระราชอนุชา  จากประเทศไทยกลับไปทรงศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์

 

ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2482 – 2488

สงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งอุบัติขึ้นในทวีปยุโรป เมื่อ พ.ศ. 2482 ได้เพิ่มความยากลำบากในพระชนมชีพของสมเด็จย่า ในฐานะหัวหน้าครอบครัว พระองค์ทรงใช้พระสติปัญญาความสามารถอย่างเต็มที่ประคับประคองรักษาครอบครัวเล็กๆ ของพระองค์ให้ผ่านพ้นภัยในรูปแบบต่างๆ สภาพชีวิตในพระตำหนักวิลล่าวัฒนาที่เมืองโลซานระหว่างสงครามโลกไม่ต่างจากครอบครัวชาวสวิสอื่นๆ นัก ทรงรับบัตรปันส่วนเช่นเดียวกับครอบครัวสวิส เมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จมหาวิทยาลัยก็เสด็จโดยจักรยานพระที่นั่ง สมเด็จย่าทรงใช้ขี้เถ้าแทนสบู่ ทรงทำเนยและเก็บผลไม้มาทำแยมเก็บเอาไว้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีทรงเล่าพระราชทานคณะผู้จัดทำหนังสือเรื่อง “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ของโครงการไทยศึกษา ฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตอนหนึ่งว่า

 “(ทูลกระหม่อมพ่อทรงเล่าว่า) ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็ลำบากเหมือนกัน สมเด็จย่าถึงได้มีความพยายามระมัดระวังเป็นแม่บ้านที่ดี ในระยะนั้นไม่มีการปันส่วนผลไม้ แต่ก็ไม่มีผลไม้อะไรมากนัก ได้อาศัยผลไม้จากสวนในบริเวณพระตำหนัก เช่น สตรอเบอรี่ แพร์ ส่วนผลไม้ตะวันออก เช่น กล้วยและส้มขาดแคลน”

  สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล่าพระราชทาน คณะผู้จัดทำหนังสือเล่มเดียวกันว่า “มีแต่แอปเปิ้ลเป็นของธรรมดาที่สุด แม่ก็พยายามหาสีเขียวสีแดงให้ดูแปลกไป...มีแต่แอปเปิ้ลตลอดศก...หลังสงครามไม่อยากทานแอปเปิ้ลเลย”

  อย่างไรก็ตาม สมเด็จย่ายังทรงรักษาประเพณีที่สมเด็จพระบรมราชชนกเคยทรงปฏิบัติ คือ พระราชทานเลี้ยงอาหารไทยแก่คนไทยในวันเสาร์ แต่เนื่องจากนักเรียนไทยมีมากขึ้นเพราะระหว่างสงคราม นักเรียนไทยที่เคยศึกษาในประเทศเบลเยี่ยม ฝรั่งเศส และอิตาลีได้ย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองต่างๆ ของสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์จึงไม่สามารถที่จะพระราชทานเลี้ยงอาหารไทยแก่นักเรียนไทยทุกคนได้ โปรดให้ผลัดเปลี่ยนกันมา นักเรียนไทยเหล่านั้นต่างประสบปัญหาที่ส่งเงินจากประเทศไทยล่าช้า บางเดือนเงินทองก็มาไม่ถึง สมเด็จย่าก็ทรงเกื้อกูลผู้ที่ขัดสน บ้างก็พระราชทานเงินให้ยืม บ้างก็ให้เลยก็มี ทั้งๆ ที่ขณะนั้นพระองค์ทรงประสบปัญหาการส่งเงินมาถวายล่าช้าเหมือนกัน
  สมเด็จย่า ได้ทรงเอาพระทัยใส่ในการศึกษาของพระโอรสพระธิดามาก โปรดให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระราชอนุชาทรงศึกษาที่โรงเรียนเอกอล นูเวล เมืองโลซานจนถึง พ.ศ. 2484 ซึ่งในช่วง 2 ปีสุดท้ายของการศึกษาที่โรงเรียนแห่งนั้น โปรดให้ทรงเข้าเป็นนักเรียนประจำ เพื่อให้ทรงทราบชีวิตของนักเรียนประจำที่ต้องช่วยเหลือพระองค์เองทุกอย่าง ส่วนสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงศึกษาอยู่ที่โรงเรียนนานาชาติที่เมืองเจนีวา นอกจากนี้ทรงหาพระอาจารย์สอนพิเศษประจำที่พระตำหนัก ทรงจัดหญิงชาวอังกฤษเป็นพระพี่เลี้ยงระหว่างโรงเรียนปิดภาคฤดูร้อน เพื่อฝึกฝนภาษาอังกฤษถวายสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เรื่องการศึกษาภาษาและขนบธรรมเนียมประเพณีไทยก็มิได้ทรงละเลย โปรดให้นายเปรื่อง ศิริภัทร พระอาจารย์ถวายพระอักษรไทยที่ทางรัฐบาลส่งมาถวายพระอักษรแด่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระราชอนุชาและสมเด็จพระเชษฐภคินี ดังนั้น การตัดสินพระทัยประทับในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ในช่วงวิกฤตการณ์สงครามโลก การศึกษาของพระโอรสธิดาจึงมิได้หยุดชะงัก สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทรงพระปรีชาสามารถด้านการศึกษา ใน พ.ศ. 2485 ทรงสอบผ่านชั้นสุดท้ายเทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนปลาย และได้ทรงเข้าศึกษาวิชาเคมีต่อที่มหาวิทยาลัยโลซาน

  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ก็ทรงเปลี่ยนแผนการศึกษาในระดับอุดมศึกษา เช่นกัน หลังจากทรงสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมปลายใน พ.ศ. 2486 เมื่อพระชนมายุ 16 พรรษา ได้ทรงเข้าศึกษาวิชานิติศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยโลซาน และอีก 2 ปีต่อมา สมเด็จพระราชอนุชาก็เสด็จเข้าศึกษาต่อทางด้านวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเดียวกัน

  วันคล้ายวันพระราชสมภพ 20 กันยายน พ.ศ. 2488 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงเป็นวันที่มีความหมายพิเศษยิ่งสำหรับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระประยูรญาติ และเหล่าคนไทยที่พำนักอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ข้าราชการและนักเรียนไทยพากันไปเผ้าฯ ถวายพระพรคับคั่งในตอนเย็น บรรดาคนไทยได้ร่วมจัดงานเลี้ยงถวาย ณ พระตำหนักวิลล่าวัฒนา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงดนตรีร่วมกับนักดนตรีสมัครเล่นทั้งหลาย เป็นงานเลี้ยงที่สนุกสนานรื่นเริง ความเงียบเหงาเศร้าใจ ความวิตกกังวลถึงบ้านเกิดเมืองนอนเป็นอันสิ้นสุดลงได้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระชนมายุ 20 พรรษา ทรงบรรลุราชนิติภาวะแล้ว และกำลังจะเสด็จพระราชดำเนินกลับมาทรงเยี่ยมพสกนิกรของพระองค์
 

เสด็จนิวัติพระนครครั้งที่ 2 พ.ศ. 2488
  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เสด็จพร้อมด้วยสมเด็จพระราชอนุชาและสมเด็จย่าออกจากสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2488 นิวัติพระนครอีกครั้งหนึ่ง โดยเครื่องบินพระที่นั่งถึงพระนคร ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488
  ระหว่างประทับในพระนคร สมเด็จย่าได้ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระราชอนุชาไปพร้อมกันทั้งสามพระองค์ ไม่ว่าจะเสด็จงานพระราชพิธี งานทั่วไป เสด็จประพาสสถานที่ต่างๆ หรือเสด็จเยี่ยมราษฎร ด้วยเหตุที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระราชอนุชาประทับอยู่ในต่างประเทศเป็นเวลานาน ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์เรื่องราวต่างๆ เกี่ยวกับเมืองไทย จึงไม่ค่อยจะทรงทราบมากนัก เมื่อเสด็จพร้อมกัน สมเด็จพระราชโอรสทรงสงสัยใคร่รู้เรื่องราวประการใดก็สามารถทูลถามสมเด็จย่าได้ทันที
  การตามเสด็จนิวัติพระนครครั้งที่ 2 นี้ สมเด็จย่าทรงมีพระชนมายุ 45 พรรษา ทรงสำราญพระราชหฤทัยมาก สงครามสิ้นสุดลงแล้ว ความสงบสุขได้บังเกิดขึ้น พระราชภาระของพระองค์ในการอบรมเลี้ยงดูพระโอรสพระธิดาก็ทรงผ่อนคลายลง พระโอรสพระธิดาทั้งสามพระองค์ทรงเจริญพระชนม์เป็นผู้ใหญ่ที่พร้อมด้วยสติปัญญาฉลาดเฉลียว สามารถปกครองดูแลพระองค์เองได้ ความนิยมชมชื่นของอาณาประชาราษฎร์ที่มีต่อพระโอรสทั้งสองพระองค์อย่างไม่เสื่อมคลายก็น่าจะยังความปลาบปลื้มปีติให้บังเกิดขึ้นในพระราชหฤทัย
 

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสวรรคต
  สมเด็จย่าได้ประทับอยู่เมืองไทยกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระโอรสองค์ที่ 2 จนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2489 รัฐบาลในเวลานั้นได้กราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้ทรงเลื่อนกำหนดเสด็จกลับไปทรงศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์ออกไปก่อน เพื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แก่ปวงชนชาวไทย ในวันที่ 9 พฤษภาคม พ.ศ. 2489 และเสด็จพระราชดำเนินเปิดประชุมสภาผู้แทนในวันที่ 1 มิถุนายน ศกเดียวกัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับคำกราบบังคมทูลของรัฐบาล และทรงกำหนดวันเสด็จพระราชดำเนินกลับไปทรงศึกษาต่อในวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2489 แต่ไม่ทันถึงวันนั้น เหตุการณ์อันเศร้าสลดที่ไม่นึกฝันก็อุบัติขึ้นเสียก่อน ในตอนเช้าวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 ก่อนกำหนดวันเสด็จพระราชดำเนินจากประเทศไทยเพียง 4 วัน สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ต้องพระแสงปืน สวรรคต
 

สมเด็จพระราชปิโยรสพระองค์ที่ 2 ขึ้นครองราชย์
  ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเป็นเอกฉันท์กราบบังคมทูลเชิญพระราชปิโยรสพระองค์ที่ 2 ของสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดชขึ้นครองราชย์สมบัติ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์

 

ตามเสด็จกลับสวิตเซอร์แลนด์ 
  สมเด็จย่าได้ตามเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จจากเมืองไทย เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 เพื่อทรงศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโลซาน โดยทรงเลือกเรียนวิชาเกี่ยวกับรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ แทนวิชาวิทยาศาสตร์ที่เลยทรงศึกษาไว้แต่เดิม เพื่อความเหมาะสมกับพระราชภารกิจแห่งพระมหากษัตริย์
   ระหว่างนั้น สมเด็จย่าก็ยังทรงทำหน้าที่ “แม่บ้าน” ในพระตำหนักวิลล่าวัฒนา ทรงดูแลจัดการเรื่องต่างๆ ให้เป็นระเบียบเรียบร้อย โปรดทรงงานด้วยพระองค์เอง ตอนเช้าทรงขับรถไปจ่ายตลาดด้วยพระองค์เองและหลังจากเสวยพระกระยาหารกลางวันแล้ว ทรงใช้เวลาว่างทำสวนในบริเวณพระตำหนัก ทรงพรวนดิน ใส่ปุ๋ย ตัดขลิบกิ่งไม้และกวาดใบไม้ ในเวลาบ่ายทรงเสด็จไปฟังบรรยายวิชาที่สนพระราชหฤทัยที่มหาวิทยาลัยโลซาน บางครั้งเมื่อว่างจากพระราชกิจในการศึกษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จย่าจะเสด็จประพาสชนบทและประเทศใกล้เคียง เช่น อิตาลี ฝรั่งเศส และลิกเตนสไตน์ ทั้งสองพระองค์โปรดทอดพระเนตรสถานที่สำคัญของเมืองต่างๆ และพอพระราชหฤทัยชมทัศนียภาพที่งดงามและเงียบสงบในชนบท ซึ่งจะเสด็จประพาสชนบทบ่อยครั้ง เมื่อทรงเห็นดอกไม้ที่ขึ้นข้างทางกำลังบานสะพรั่งสวยงาม สมเด็จย่าจะทรงหยุดรถเพื่อเก็บดอกไม้ป่าเหล่านั้นกลับไปที่ประทับ แต่แล้วในวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2491 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ต้องเสด็จเข้ารับการรักษาพระองค์ในสถานพยาบาล สมเด็จย่าทรงทุ่มเทพระกำลังดูแลพยาบาลพระราชปิโยรส จนมีพระอาการดีขึ้น แพทย์จึงได้กราบบังคมทูลแนะนำให้สมเด็จย่า เสด็จไปประทับเปลี่ยนพระอิริยาบถในชนบทเป็นการครั้งคราว
  หลังจากนั้น พสกนิกรก็ได้รับข่าวอันเป็นที่น่าปลื้มปีติเป็นอย่างยิ่งว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหมั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาคนโตของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร (ต่อมาได้รับสถาปนาเป็นพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ) อัครราชทูตไทยประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ. 2492

 

ราชาภิเษกสมรสและบรมราชาภิเษก
   
หลังจากพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลแล้ว สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ ตำหนักพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า วังสระปทุม เมื่อวันที่ 28 เมษายน พ.ศ. 2493 ต่อมาวันที่ 5 พฤษภาคม ศกเดียวกัน ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตามแบบอย่างโบราณราชประเพณีขึ้น ณ พระที่นั่งไพศาลทักษิณ ในพระบรมมหาราชวัง และสถาปนาสมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ ให้ดำรงราชฐานันดรเป็น สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี อีก 6 ปีต่อมา ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2499 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามาภิไธยว่า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
    อีก 1 ปีต่อมา หลังจากพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จย่าก็ได้ทรงชื่นชมกับพระราชนัดดาคือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี ประสูติเมื่อวันที่ 5 เมษายน พ.ศ. 2494 ที่เมืองโลซาน ทรงเป็นพระราชนัดดาพระองค์ที่ 2 ต่อจากคุณทัศนาวลัย รัตนกุลเสรีเริงฤทธิ์ (ปัจจุบันคือ ท่านผู้หญิงทัศนาวลัย ศรสงคราม) พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จนิวัติประเทศไทยเป็นการถาวรแล้ว ก็ได้มีพระประสูติกาลพระราชโอรสธิดาอีก 3 พระองค์ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต คือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็น สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร
    สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ประสูติเมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2498 ใน พ.ศ. 2520 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี
    สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ประสูติเมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2500
วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศเฉลิมพระนามพระอัฐิ สมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และเฉลิมพระนามสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี