ด้านพัฒนาประเทศ

    เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เสด็จนิวัติประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2494 แล้ว สมเด็จย่ายังคงประทับที่เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ต่อไป จะเสด็จนิวัติเมืองไทยเป็นครั้งคราวในระหว่าง พ.ศ. 2495 – 2506 เมื่อมีพระราชพิธีและเหตุการณ์สำคัญในพระราชวงศ์ หรือด้วยพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับบ้านเมือง เช่น เมื่อสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงมีพระประสูติกาล สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าประชวรและสวรรคต พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวช ก็เสด็จฯ กลับมาเป็นระยะเวลาประมาณเดือนหนึ่งหรือสองเดือน บางคราวก็ประทับอยู่นานถึง 11 เดือนก็มี ดังเช่นเมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถเสด็จพระราชดำเนินเจริญสัมพันธไมตรีกับสหรัฐอเมริกาและประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรป 14 ประเทศ เมื่อ พ.ศ. 2503 เป็นเวลา 6 เดือน สมเด็จย่าต้องเสด็จจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์มาทรงปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ หน้าที่ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์นี้ ได้ทรงปฏิบัติอีกหลายคราวระหว่างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศระหว่าง พ.ศ. 2502 – พ.ศ. 2510
พระราชกิจของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือ การปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ แทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เช่น เสด็จออกรับทูตานุทูตต่างประเทศเข้าเฝ้าฯ ถวายพระราชสาส์นและอักษรสาส์นตราตั้ง พระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย บำเพ็ญพระราชกุศลเนื่องในเทศกาลและวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาและลงพระนามาภิไธยในพระราชบัญญัติและประกาศสำคัญๆ เป็นต้น สมเด็จย่าได้ทรงปฏิบัติพระราชภารกิจต่างพระเนตรพระกรรณได้อย่างบริบูรณ์ ได้ทรงลงพระนามาภิไธยในพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในกฎหมายและประกาศสำคัญหลายฉบับ คือ พระราชบัญญัติเครื่องอิสริยาภรณ์อันมีศักดิ์รามาธิบดี พ.ศ. 2503 พระราชบัญญัติปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2503 พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 ประกาศเรื่องแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2504 – พ.ศ. 2509) และ ประกาศเรื่องแผนการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2503 เป็นต้น

  สมเด็จย่าทรงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินที่เป็นสตรีพระองค์ที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ นับแต่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 5 และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 

  ในต้นปี พ.ศ. 2507 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่ทรงเชิญเสด็จสมเด็จย่าให้เสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรมที่พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเพิ่งสร้างเสร็จได้ประมาณปีเศษ ครั้งนั้นนับเป็นปีแรกที่สมเด็จย่าเริ่มเสด็จประพาสหัวเมืองในประเทศไทยเพื่อทรงเยี่ยมพสกนิกร
  การเสด็จประทับแรมที่ภูพิงคราชนิเวศน์ครั้งนั้น นอกจากสมเด็จย่าจะได้ทรงพักผ่อนพระราชอิริยาบถด้วยการพระดำเนินไปในป่าหลังพระตำหนัก ชมไม้ไร่นานาพันธุ์แล้ว ยังได้เสด็จฯ เยี่ยมหมู่บ้านต่างๆ ตามรายทางด้วย ทำให้ทรงพบเห็นความทุกข์ยากของประชาชนในท้องถิ่นที่ห่างไกลความเจริญ สภาพการขาดแคลนโรงเรียน ปัญหาด้านการอนามัย ไม่มีทั้งแพทย์และพยาบาล อีกทั้งยังได้ทรงพบเห็นความเป็นอยู่ที่แร้นแค้น แม้แต่เหล่าตำรวจตระเวนชายแดนผู้ทำหน้าที่นำเสด็จฯ และถวายอารักขาอยู่ตลอดเวลา นอกจากเบี้ยเลี้ยงยังไม่มีแล้ว เงินเดือนที่ได้รับก็น้อยมาก
  ด้วยน้ำพระราชหฤทัยที่เปี่ยมไปด้วยพระเมตตา ปรารถนาที่จะขจัดปัดเป่าความทุกข์ยากของบุคคลอื่นเท่าที่จะทรงกระทำได้ สมเด็จย่าจึงเริ่มเสด็จออกเยี่ยมเยียนราษฎรและตำรวจตระเวนชายแดนในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่ พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา ทั้งๆ ที่ขณะนั้นมีพระชนมายุ 64 พรรษาแล้ว ครั้นเมื่อเสด็จฯ ไปในท้องถิ่นชายแดน ทรงพบทหารปฏิบัติการอยู่ในท้องถิ่นนั้น ก็ทรงเยี่ยมฐานปฏิบัติการของทหารด้วยทุกแห่ง
  การเสด็จฯ ออกไปสอดส่องดูแลทุกข์สุขของราษฎรและข้าราชการตามจังหวัดต่างๆ อย่างสม่ำเสมอเป็นเวลายาวนาน ก่อให้เกิดพระราชกรณียกิจด้านสังคมสงเคราะห์ ด้านการศึกษา ด้านการแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุข ด้านการฟื้นฟูอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติและราษฎรอย่างมหาศาลตราบเท่าทุกวันนี้
 

ด้านการแพทย์ พยาบาล และสาธารณสุข

  สมเด็จย่า ทรงสนพระราชหฤทัยในคุณภาพชีวิตของพสกนิกร โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนผู้ยากไร้และด้อยโอกาสในถิ่นห่างไกลความเจริญ ด้วยทรงเห็นว่าสุขภาพคนเราเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าสุขภาพของประชาชนดีแล้ว การประกอบอาชีพ ฐานะความเป็นอยู่ ตลอดจนการพัฒนาประเทศก็ย่อมดีตามไปด้วย
  สมเด็จย่าจึงทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจด้านการแพทย์พยาบาลและการสาธารณสุข โดยทรงเจริญตามรอยยุคลบาทสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “พระบิดาแห่งแพทย์แผนปัจจุบันและสาธารณสุข” ผู้ทรงอุทิศพระองค์และพระราชทรัพย์เพื่อกิจการด้านนี้มากมาย ดังลายพระหัตถ์เกี่ยวกับความสำคัญของการสาธารณสุขที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงมีถึงสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ว่า
  “หม่อมฉันรู้สึกเสมอว่า การสาธารณสุขนั้นเป็นการสำคัญอย่างยิ่ง ทั้งเป็นเครื่องทำนุบำรุงกำลังของชาติไทย และเป็นสาธารณะประโยชน์แก่มนุษยชาติทั่วไปด้วย  เพราะฉะนั้น เมื่อมีโอกาสอันใดซึ่งหม่อมฉันพอที่จะช่วยออกกำลังกายและสติปัญญาหรือทรัพย์ อันเป็นผลที่จะทำนุบำรุงให้การนั้นเจริญขึ้นแล้ว หม่อมฉันยินดีปฏิบัติเสมอ”

ดังนั้น เมื่อสิ้นสมเด็จพระบรมราชชนกแล้ว แม้ว่าการอภิบาลพระโอรสธิดาให้มีพลานามัยและการศึกษาที่ดีจะเป็นพระราชภารกิจที่ต้องให้เวลาและความเอาใจใส่ดูแลถี่ถ้วนอย่างมาก แต่สมเด็จย่าก็ทรงมีเวลาให้แก่การแพทย์ พยาบาลและสาธารณสุขเสมอ โดยเฉพาะโครงการต่างๆ ที่สมเด็จพระบรมราชชนกเคยสนับสนุนมาแต่เดิม สมเด็จย่าทรงดำเนินกิจกรรมทุกอย่างให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมราชชนกโดยมิได้ทรงหยุดยั้ง

โดยเฉพาะโครงการต่างๆ ที่สมเด็จพระบรมราชชนกเคยสนับสนุนมาแต่เดิม สมเด็จย่าทรงดำเนินกิจกรรมทุกอย่างให้เป็นไปตามพระราชประสงค์ของสมเด็จพระบรมราชชนกโดยมิได้ทรงหยุดยั้ง


ผู้ใดที่เคยได้รับพระราชทานทุนการศึกษาจากสมเด็จพระบรมราชชนก ก็ทรงพระเมตตาพระราชทานต่อไปจนสำเร็จการศึกษา ทรงช่วยในการก่อสร้างปรับปรุงโรงพยาบาลศิริราชให้สำเร็จลุล่วงตามพระราชประสงค์ ได้พระราชทานเงินเพิ่มเป็นรายเดือนแก่แพทย์ผู้เป็นนักเรียนทุนของสมเด็จพระบรมราชชนกที่กลับมารับราชการแล้วได้เงินเดือนน้อยกว่าที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ ได้พระราชทานเงินจำนวน 500,000 บาท ให้แก่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยภายในกำหนด 25 ปี เพื่อตั้งเป็นทุนสำหรับเก็บดอกผลส่งคนไปศึกษาเพิ่มเติมในต่างประเทศ ต่อมาได้โอนทุนนี้ให้มหาวิทยาลัยแพทย์ คือ มหาวิทยาลัยมหิดลในปัจจุบัน

  เมื่อตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลนิวัติประเทศไทยใน พ.ศ. 2488 สมเด็จย่าได้ทรงนำยาที่เรียกว่า PAS เข้ามาเมืองไทยเป็นครั้งแรก ยานี้ใช้ในการผลิตวัคซีนบีซีจี สร้างภูมิคุ้มกันวัณโรคให้ร่างกาย นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอย่างยิ่งต่อประชาชนชาวไทย มิให้ต้องเป็นเหยื่อของโรคร้ายนี้ ต่อมาใน พ.ศ. 2494 สมเด็จพระปิโยรสพระองค์เล็กได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างตึกสำหรับผลิตบีซีจี ซึ่งเป็นยาฉีดให้แก่เด็กเพื่อป้องกันวัณโรค พระราชทานนามตึกนี้ว่า มหิดลวงศานุสรณ์
  สมเด็จย่าทรงรับเป็นผู้อุปถัมภ์สมาคม มูลนิธิต่างๆ มากมาย เป็นต้นว่า ทรงเป็นประธานมูลนิธิอานันทมหิดล ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2502 เพื่อเป็นพระบรมราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล มีวัตถุประสงค์ในการคัดเลือกบุคคลส่งไปศึกษาวิชาพิเศษ ณ ต่างประเทศในสาขาวิชาต่างๆ เพื่อให้กลับมาปฏิบัติงานให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ พระราชทานเงินรายปีสมทบทุนเพื่อเก็บดอกผลช่วยนักเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
  พระราชทานเงินสมทบทุนโรงพยาบาลโรคติดต่อปากคลองสาน ธนบุรี เพื่อสร้างประปาชั่วคราวช่วยเหลือผู้ป่วยในโรงพยาบาลนั้น ทรงสนับสนุนส่งเสริมวิชาชีพและการศึกษาพยาบาลตั้งแต่เริ่มการก่อตั้งสมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทยสมัยแรก โดยทรงร่วมเป็นกรรมการของสมาคม สมาคมศิษย์เก่าพยาบาลศิริราช ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์โรงเรียนพยาบาลผดุงครรภ์และอนามัย จังหวัดสงขลา
  ใน พ.ศ. 2503 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อสร้าง “อาคารศรีสังวาลย์” ขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อให้เป็นที่ตรวจรักษาและบำบัดคนพิการ
  ทรงรับเป็นองค์ประธานกรรมการศิริราชมูลนิธิ ซึ่งได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2510 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำดอกผลที่เกิดจากเงินกองทุนของมูลนิธิมาส่งเสริมกิจการต่างๆ ของคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของมูลนิธิอนุเคราะห์คนพิการฯ ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ของมูลนิธิช่วยคนโรคเรื้อนจังหวัดลำปาง ใน พ.ศ. 2505 และทรงอุปถัมภ์โรงเรียนจิตต์อารีของมูลนิธิซึ่งเป็นบ้านและโรงเรียนของลูกผู้ป่วยโรคเรื้อนที่ยังไม่ได้รับเชื้อจากพ่อแม่ ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์สมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 500,000 บาท จัดตั้งมูลนิธิขาเทียมเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2535

 

ด้านสังคมสงเคราะห์

  สมเด็จย่าทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์มาตั้งแต่สมัยที่พระองค์ยังมิได้มีพระราชอิสริยยศเป็นที่ปรากฏ ด้วยมีพระราชดำริว่า สตรีไทยที่เป็นแม่บ้านก็สามารถจะให้ความช่วยเหลือในกิจการสังคมสงเคราะห์ได้ เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ดังนั้น ใน พ.ศ. 2475 ขณะที่สมเด็จย่าประทับอยู่ ณ ตำหนักใหม่ วังสระปทุม เมื่อพระโอรสธิดาเจริญพระชนมายุมากขึ้น และทรงเข้าศึกษาในโรงเรียนทุกพระองค์แล้ว สมเด็จย่าทรงมีเวลาว่าง จึงทรงตั้ง คณะเย็บผ้า (Sewing Circle) ตามแบบสตรีอเมริกาขึ้น มีสมาชิกประกอบด้วยผู้ที่ทรงคุ้นเคย คือ หม่อมเจ้าหญิงสิบพันพารเสนอ โสณกุล (ผู้ทรงแปลคำว่า Sewing Circle เป็น “คณะเย็บผ้า”) ท่านผู้หญิงประยงค์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา คุณหญิงแฉล้ม บูรณศิริ คุณหญิงศรีวิสารวาจา คุณหญิงเพิ่ม ดำรงแพทยคุณ คุณหญิงอรุณ เมธาธิบดี คุณหญิงเชิด อุดมราชภักดี หม่อมราชวงศ์รสลิน คัคณางค์ คุณแพ ยุกตะนันทน์ ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร ท่านผู้หญิงฉลวย สุทธิอรรถานฤมล Mrs. Zimmerman Mrs. Davis Mrs. Langesen Mrs. Nedergard Mrs. Pendleton Mrs. Reeve สุภาพสตรีชาวต่างประเทศเหล่านี้เป็นภริยาของนักการศึกษา สอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมิชชันนารี คณะเย็บผ้าเริ่มด้วยการเย็บเสื้อของตัวเอง ต่อมาได้เย็บเสื้อผ้าให้เด็กอนาถาตามโรงพยาบาล ดังที่ท่านผู้หญิงพัว อนุรักษ์ราชมณเฑียร บันทึกไว้ว่า
  “สมาชิกเหล่านี้มาประชุมกันนั่งตัดเย็บเสื้อผ้าให้แก่เด็กตามโรงพยาบาล รับรองได้ว่าไม่มีการนินทาว่าร้ายใคร สมาชิกเหล่านี้ผลัดเปลี่ยนกันเป็นเจ้าภาพจัดการเลี้ยงน้ำชากันอาทิตย์ละครั้ง ตั้งแต่เวลา 16.00 น. ถึง 18.00 น.”
  ใน พ.ศ. 2503 สมเด็จย่าได้พระราชทานเงินจำนวนสองแสนบาท เพื่อสร้างหอพักธรรมนิวาสที่หลังวัดมกุฏกษัตริยาราม สำหรับเป็นที่พักนักศึกษาที่ขัดสนและไม่มีที่อยู่  
  ใน พ.ศ. 2510 ได้พระราชทานทุนริเริ่มเป็นจำนวนเงินหนึ่งล้านบาท ตั้งมูลนิธิสงเคราะห์ตำรวจตระเวนชายแดนและครอบครัว และทรงรับมูลนิธินี้ไว้ในพระอุปถัมภ์
  พ.ศ. 2511 ได้ทรงรับ มูลนิธิชีวิตใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ไว้ในพระอุปถัมภ์ มูลนิธินี้มีวัตถุประสงค์จะช่วยจัดตั้งหมู่บ้านตามชนบทของประเทศไทย เพื่อให้ผู้ที่หายป่วยจากโรคเรื้อนและโรคจิตสามารถมีที่ดินบ้านเรือนของตนเอง รวมทั้งส่งเสริมการประกอบอาชีพของบุคคลเหล่านี้ให้มีงานทำ มีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขตามควรแก่อัตภาพ
  ทุกครั้งที่สมเด็จย่าเสด็จฯ เยี่ยมพสกนิกรตามจังหวัดต่างๆ ได้ทรงสละพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ซื้อข้าวของต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน แล้วนำไปพระราชทานแก่ประชาชนตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล เช่น พระราชทานเสื้อยืด ผ้าเช็ดตัว ผ้าขาวม้า เครื่องเขียนต่างๆ แก่คณะครูประจำโรงเรียน ส่วนนักเรียนนั้นจะได้รับพระราชทานเครื่องแบบนักเรียน สมุด ดินสอ ยางลบและอุปกรณ์การเรียนอื่นๆ ส่วนชาวบ้านจะได้รับพระราชทานผ้าห่ม ผ้าขาวม้า ผ้าถุง ด้ายดำ ด้ายขาวและเข็มเย็บผ้า ยาตำราหลวง อาหารกระป๋องและอาหารแห้งต่างๆ สำหรับเด็กๆ จะได้รับพระราชทานของเล่นที่เหมาะกับเพศและวัย เช่น เครื่องเขย่ากรุ๊งกริ๊ง แตรรถเล็กๆ และตุ๊กตาสวมเสื้อกระโปรง เป็นต้น
  พระราชทรัพย์ที่พระราชทานช่วยเหลือสมาคม มูลนิธิ และหน่วยงานต่างๆ มาจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ และจากการขายของฝีพระหัตถ์เพื่อการกุศล ทรงริเริ่มทำบัตรอวยพรความสุขในโอกาสต่างๆ แต่งด้วยดอกไม้ทับแห้งแปลกตา พระราชทานให้ขายเป็นรายได้แก่การกุศล โปรดเกล้าฯ ให้ข้าหลวงช่วยกันทำไม้กวาดป่านศรนารายณ์หรือแปรงศรนารายณ์ เพื่อขายนำเงินเข้าการกุศล เนื่องจากทรงใช้ป่านย้อมสีสวยๆ มีประโยชน์ทั้งในแง่ใช้สอยและการตกแต่ง จึงมีผู้สั่งจองกันมาก แปรงศรนารายณ์นี้ทำรายได้ดีมาก ได้พระราชทานเงินรายได้แก่มูลนิธิช่วยคนโรคเรื้อน จังหวัดลำปาง
   ในด้านการสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ได้ทรงกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชูปถัมภ์และทรงจำหน่ายดอกป๊อปปี้ด้วยพระองค์เองเพื่อเป็นรายได้สงเคราะห์แก่ทหารผ่านศึก
  ใน พ.ศ. 2528 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบตามข้อเสนอของกรรมการส่งเสริมและพัฒนางานสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ กำหนดให้วันที่ 21 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของสมเด็จย่า เป็นวันสังคมสงเคราะห์แห่งชาติ ด้วยเหตุผลที่ว่าพระองค์ทรงอุทิศพระวรกายและเวลา เพื่อประโยชน์ให้บังเกิดแก่ประชาชนตลอดมา โดยมิได้ทรงเห็นแก่ความเหนื่อยยาก สมควรเป็นปูชนียบุคคลที่นักสังคมสงเคราะห์ควรถือเป็นแบบอย่างในการปฏิบัติงานของตนต่อไป ดังนั้น ในวันที่ 21 ตุลาคมของทุกปี ภาครัฐบาลและภาคเอกชนจึงได้ร่วมกันจัดงานแสดงกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับการสังคมสงเคราะห์ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรทุกหมู่เหล่าโดยไม่เลือกเชื้อชาติศาสนา

 

แพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

  เมื่อสมเด็จย่าเสด็จประพาสหัวเมืองเยี่ยมพสกนิกร และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารในท้องถิ่นทุรกันดารทั่วประเทศ นับแต่ พ.ศ. 2507 เป็นต้นมา ทำให้พระองค์ได้ทอดพระเนตรเห็นความทุกขเวทนาของราษฎรตามสถานที่เหล่านั้นยามเจ็บไข้ได้ป่วยด้วยพระองค์เอง ทรงพบว่าราษฎรส่วนใหญ่มักเจ็บป่วยด้วยโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร โรคพยาธิ โรคผิวหนัง ไข้ป่า ซึ่งเป็นโรคพื้นฐานทั่วไป แต่มักเสียชีวิตเพราะไม่มีบริการทางการแพทย์ในถิ่นทุรกันดาร  
  ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2512 สมเด็จย่าจึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งหน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ในพระองค์ขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นแห่งแรก พระราชทานนามว่า “แพทย์อาสาสมเด็จพระราชชนนี” มีอักษรย่อว่า พอ.สว. หน่วยแพทย์อาสาเคลื่อนที่ พอ.สว. นี้ประกอบด้วยแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและสมาชิกสมทบอีกคณะหนึ่ง ซึ่งล้วนเป็นอาสาสมัครที่ไม่ได้รับสิ่งตอบแทนเป็นเบี้ยเลี้ยงหรือเงินเดือน เดินทางไปปฏิบัติงานในถิ่นทุรกันดารในวันเสาร์หรือวันอาทิตย์ โดยรถยนต์ เรือหรือเฮลิคอปเตอร์ เป็นการประจำ เพื่อตรวจรักษาราษฎรที่เจ็บไข้ได้ป่วยและแนะนำให้ความรู้เรื่องการอยู่อย่างถูกสุขลักษณะแก่ประชาชนทั่วไป
  สมเด็จย่าทรงรับพระราชทานภาระในด้านหยูกยา เครื่องใช้ ตลอดจนพาหนะสำหรับใช้ในการเดินทาง และยังพระราชทานเงินเป็นค่าอาหารกลางวันสำหรับคณะที่เดินทางไปปฏิบัติงานทุกคน รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลทุกอย่าง  

สมเด็จย่าทรงเอาพระทัยใส่ติดตามการปฏิบัติงานของพอ.สว. อย่างใกล้ชิด พระราชทานคำแนะนำ พระราชวินิจฉัยในการปฏิบัติงานแก่แพทย์ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทำให้สามารถแก้ปัญหาและสร้างเสริมขวัญและกำลังใจแก่บรรดาผู้ปฏิบัติหน้าที่อยู่เป็นนิจ คราวใดที่เสด็จเยี่ยมราษฎรทอดพระเนตรการปฏิบัติงานของหน่วยแพทย์อาสา พอ.สว. ก็จะช่วยนับยาจ่ายยาและพระราชทานคำแนะนำแก่ผู้ป่วยด้วยพระองค์เอง หากทรงพบผู้เจ็บไข้เกินกำลังแพทย์อาสาบำบัด ก็จะโปรดเกล้าฯ ให้ส่งไปรับการรักษาในโรงพยาบาล และทรงรับไว้เป็นพระราชานุเคราะห์จำนวนมาก

ต่อมา ใน พ.ศ. 2516 สมเด็จย่าได้ทรงเริ่มทดลองให้วิทยุรับ – ส่ง ให้แพทย์ใช้ติดต่อกับคนไข้โดยตรงตามสถานีอนามัยที่อยู่ห่างไกล เพื่อปรึกษาโรคและนำการรักษาตามแนวปฏิบัติของ The Royal Flying Doctor of Australia ซึ่งรัฐบาลออสเตรเลียได้สนับสนุนให้ทุนแก่นายแพทย์มณเฑียร บุนนาค เดินทางไปดูงานเมื่อ พ.ศ. 2515 เมื่อทรงเห็นว่าจะเป็นงานที่สามารถอำนวยประโยชน์แก่ผู้ที่อยู่ห่างไกลในชนบทได้ และเป็นการติดต่อกันได้ทุกวันทุกเวลาเมื่อมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น การตรวจรักษาทางวิทยุ ประกอบด้วยสถานีแพทย์ทางอากาศ 2 ระดับ คือ สถานีโรงพยาบาล และ สถานีรักษา ส่วนใหญ่ใช้สถานีอนามัยชั้น 2 ที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล อยู่ในเขตกันดารที่การคมนาคมไม่สะดวก สถานีโรงพยาบาลและสถานีรักษาจะติดต่อสื่อสารกันทางวิทยุให้แพทย์ติดต่อกับคนไข้ที่อยู่ห่างไกลได้โดยตรง เพื่อปรึกษาโรคและแนะนำการรักษา เรียกว่า “แพทย์อาสาฯ ทางอากาศ”

  ด้วยพระราชดำริในข้อนี้ ทำให้สามารถสื่อสารติดต่อรับส่งข่าวสารด้านการบริการสาธารณสุขได้ดียิ่ง งานธุรการและการส่งกำลังบำรุงเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพิ่มพูนประสิทธิภาพของงานสาธารณสุขอย่างเห็นได้ชันเจน ปัจจุบันหน่วยแพทย์อาสาฯ ทางอากาศมีสถานีวิทยุรวม 446 สถานี เป็นสถานีโรงพยาบาล 130 สถานี สถานีรถพยาบาล 56 สถานี สถานีรักษา 235 สถานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด 25 สถานี สถานีสนับสนุน 5 – 11 สถานี ระบบการสื่อสารทางวิทยุ พอ.สว. ใช้วิทยุความถี่ VHF/FM และมีระบบเชื่อมโยงโดยใช้เครื่องถ่ายทอดสัญญาณและตัวเชื่อมเข้ากับโทรคมนาคม มีพื้นที่ปฏิบัติการส่วนภูมิภาค 25 จังหวัด สถานีทำการส่วนกลางคือ สำนักงานกลาง พอ.สว. วังสระปทุม ได้ปฏิบัติการปรึกษาโรคและแนะนำการรักษาพยาบาลแก่ผู้ป่วยไปแล้วกว่าล้านคน
 ใน พ.ศ. 2517 สมเด็จย่าโปรดเกล้าฯ พระราชทานทุนเริ่มแรก 1 ล้านบาท จดทะเบียนหน่วยแพทย์อาสาเป็น “มูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” เพื่อให้การดำเนินงานของ พอ.สว. มีรากฐานมั่นคง และสามารถดำเนินการไปได้อย่างต่อเนื่อง ทรงเป็นนายิกากิตติมศักดิ์ด้วยพระองค์เอง มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานกรรมการบริหาร นายแพทย์มณเฑียร บุนนาค เป็นเลขาธิการ ต่อมา พ.ศ. 2528 ได้มีการแก้ไขตราสารมูลนิธิขึ้นใหม่ กำหนดวัตถุประสงค์หลักของตราสาร คือ จัดหาและส่งเสริมให้มีแพทย์และเจ้าหน้าที่อาสาสมัครทั้งส่วนกลางและภูมิภาค ปฏิบัติงานช่วยเหลือให้การรักษา ป้องกัน ส่งเสริม และฟื้นฟูสุขภาพอนามัยของประชาชนและเจ้าหน้าที่ในท้องถิ่นทุรกันดารห่างไกลทางคมนาคม ตลอดจนจัดให้มีการรักษาพยาบาลผู้ป่วยในท้องถิ่นทุรกันดาร โดยการสั่งการรักษาทางเครื่องมือสื่อสาร ทั้งนี้ ได้มีการปรับปรุงการบริหารภายในสำนักงานมูลนิธิ พอ.สว. โดยมีศาสตราจารย์ นายแพทย์อุดม โปษะกฤษณะ เป็นเลขาธิการมูลนิธิ
  สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงนิพนธ์ถึงหน่วยแพทย์อาสาสมเด็จย่า หรือ พอ.สว. ที่เติบโตขึ้นมาเรื่อยๆ จนได้ตั้งเป็นมูลนิธิ มีหน่วยรักษาทางวิทยุและได้ปรับโครงสร้างครั้งใหญ่ ไว้ในคำปรารภหนังสือ สมเด็จย่าของปวงชน ลงวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2533 ว่า “มูลนิธิ พอ.สว. นี้ เป็นเสมือนเด็กที่ทรงเลี้ยงมาตั้งแต่แบเบาะ ทรงวางแผนด้วยพระองค์เองตลอด บางครั้งก็ทรงดีพระทัยเมื่อผลงานออกมาดี บางครั้งก็ทรงเป็นห่วง เมื่ออนาคตยังมองไม่เห็นชัด บัดนี้ พอ.สว. ก็บรรลุนิติภาวะแล้ว แต่แม่ทุกคน ถึงแม้ว่าลูกจะเติบโตเพียงใดก็ตาม จะมีความผูกพันห่วงใยอยู่ตลอดไป เช่นเดียวกับสมเด็จย่าก็ทรงมีความผูกพันห่วงใยมูลนิธิ พอ.สว. อยู่เสมอไป”
  เมื่อสมเด็จย่าโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง มูลนิธิขาเทียม ขึ้นเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ. 2535 โดยพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นทุน 500,000 บาท และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์พระราชทานสมทบอีก 750,000 บาท โดยทรงรับเป็นองค์ประธาน มูลนิธิได้จัดทำขาเทียมให้แก่ผู้พิการขาขาดไปแล้ว 2,560 คน ใน 26 จังหวัด ทำให้ผู้พิการสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตัวและครอบครัวได้

 

ด้านการศึกษา

  สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงสนับสนุนและส่งเสริมด้านการศึกษา มาตั้งแต่ทรงอภิเษกสมรสใหม่ๆ หนังสือ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ของโครงการไทยศึกษา ฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บันทึกไว้ว่า
  “หลังจากอภิเษกสมรสได้ไม่นาน ผู้อ่านหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ ฉบับวันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2463 ก็ได้รับทราบข่าวแรกเกี่ยวกับคู่อภิเษกสมรสใหม่ ในกรอบเล็กๆ หน้า 4 มีประกาศพระนามและนามผู้บริจาคเงินให้แก่โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง ใต้พระนามสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้า พระบรมราชเทวี (สมเด็จพระพันวัสสาฯ) ซึ่งพระราชทาน 1,000 บาท คือ พระนามสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ และหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา ประทาน 5,000 บาท
ข้อความสั้นๆ เพียงบรรทัดเดียวนี้มีความสำคัญมากกว่าจะบอกข่าวคู่สามีภริยามีจิตใจกุศลบริจาคเงินช่วยเหลือโรงเรียนเท่านั้น แต่เป็นการประกาศให้รู้ถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของคู่อภิเษกสมรสใหม่ ที่จะร่วมกันบำเพ็ญสาธารณประโยชน์เพื่อความเจริญของชาติบ้านเมือง”
หนังสือเล่มเดียวกันนี้ยังบอกให้ทราบอีกว่า ในฐานะสะใภ้หลวง สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นเงินปีละ 200 บาท พระองค์ได้พระราชทานเงินปีจำนวนนี้ช่วยเหลือนักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์
  สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงสนพระราชหฤทัยในด้านการศึกษามาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ แม้จะมีอุปสรรคมากมายจากการเรียนในโรงเรียน แต่ก็โปรดการอ่านหนังสือที่ทรงคุณค่านอกเวลามาแต่พระชันษายังน้อย จากหนังสือต่างๆ ที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงเล่าถึง “แม่” ไว้ บอกให้พสกนิกรไทยทราบว่า เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงได้รับพระราชทานทุนการศึกษาจากสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าเสด็จทรงศึกษาต่อที่สหรัฐอเมริกาแล้ว สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก นั่นเองที่เป็นผู้ทรงกำหนดแผนการศึกษาให้สมเด็จพระบรมราชชนนีมาตั้งแต่ต้น เริ่มตั้งแต่ทรงจัดให้ศึกษาภาษาอังกฤษใหม่ในโรงเรียนประถม เพื่อฝึกฝนทักษะการพูด อ่าน เขียนภาษาอังกฤษให้ชำนาญเสียก่อน แล้วจึงเข้าเรียนหลักสูตรเตรียมพยาบาลที่วิทยาลัยซิมมอนส์ เมื่อสอบไล่ได้แล้วก็ทรงศึกษาการสาธารณสุขเกี่ยวกับโรงเรียนในภาคฤดูร้อนของเอ็มไอที ขณะเดียวกันสมเด็จพระบรมราชชนกทรงหาครูพิเศษมาสอนพีชคณิต ภาษาลาติน ภาษาฝรั่งเศส ทรงจัดให้สุภาพสตรีชาวอเมริกันพาไปทอดพระเนตรพิพิธภัณฑ์ และอธิบายเกี่ยวกับภาพเขียนที่เขาจัดแสดง หลังจากนั้นก็เรียนจิตวิทยา การทำกับข้าวและโภชนาการ วิชาความรู้ที่สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงเรียนนั้น นอกจากจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่องาน “แม่บ้าน” ที่ต้องทำนุบำรุงพระโอรสธิดาและพระสวามีให้สุขสมบูรณ์แล้ว ยังสอดคล้องกับวิชาที่สมเด็จพระบรมราชชนกทรงศึกษาอีกด้วย
  สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนกนั้นทรงปฏิบัติทุกสิ่งทุกอย่างอย่างเป็นระเบียบ มีพระนิสัยอดทน ประหยัด ทรงมั่นอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีเมตตาจิต เห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีพระมรรยาทอ่อนโยนน่ารัก และทรงรักเมืองไทยเป็นชีวิตจิตใจ ทรงปฏิบัติทุกอย่างเพื่อพัฒนาประเทศ พัฒนาคุณภาพชีวิต และช่วยเหลือคนไทยดังลายพระหัตถ์ที่ทรงเขียนถึงหม่อมคัทรินในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ ในหนังสือ “เจ้าชีวิต” ตอนหนึ่งว่า
  “...เมื่อฉันเพิ่งออกไปเรียนหนังสือที่ยุโรป ฉันไม่เคยรู้แน่เลยว่าชาติบ้านเมืองของฉันนั้นสำคัญแก่ฉันเพียงไร จนกระทั่งฉันได้มีโอกาสติดต่อกับคนไทยอันน่ารักมีคุณค่า บัดนี้ ฉันไม่ได้คิดถึงบ้านจนไม่สบาย แต่เมื่อได้ศึกษาที่นี่ (สหรัฐฯ) แล้ว จึงได้รู้สึกตัวว่า ถิ่นฐานของฉันในโลกนี้คือ จะต้องอยู่ท่ามกลางคนไทยด้วยกัน เธอถามว่าจะให้ฉันช่วยเอาอะไรสำหรับฉันกลับไปกรุงเทพฯ บ้างไหม ได้สิเอาความตื่นเต้นอยากจะทำงานให้แก่ชาติ ความรักชาติ ความรักคนไทย ความจงรักภักดีในพระเจ้าอยู่หัว ความรักความซื่อสัตย์ต่อผู้ที่ฉันรักและนับถือ เสด็จแม่เหนือผู้ใดๆ หมด และพี่เล็ก (คือสมเด็จเจ้าฟ้า กรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ) และคนอื่นๆ ที่ฉันรัก...”
  เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนกทรงพบปะนักเรียนไทย ทรงแสดงความห่วงใย และพระราชทานพระราโชวาทให้ทุกคนช่วยกับทะนุบำรุงบ้านเมือง และช่วยเหลือคนไทยให้เจริญในอนาคต พระนิสัยต่างๆ เหล่านี้ สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงถ่ายทอดมาได้หมด และได้ทรงนำมาอบรมพระโอรสธิดาอีกต่อหนึ่ง เพื่อให้ทรงเป็นเจ้านายไทยที่มุ่งสร้างประโยชน์แก่ชาติบ้านเมืองในอนาคต ทรงดูแลให้พระโอรสธิดาทุกพระองค์มีพระพลานามัยที่แข็งแรง มีระเบียบวินัยทั้งกายและใจ ทรงปลูกฝังให้ทุกพระองค์ทรงมีคุณธรรมและความรับผิดชอบต่อหน้าที่ สิ่งเหล่านี้เองคือหัวใจของการเป็นพลเมืองดี และพระมหากษัตริย์ที่ดี

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์  พระราชทานสัมภาษณ์แก่คณะผู้จัดทำหนังสือ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ถึงวิธีอบรมพระโอรสธิดาของสมเด็จพระบรมราชชนนีว่า

  “ในครอบครัวเรา (ความรับผิดชอบ) เป็นของที่ไม่ต้องคิด เป็นธรรมชาติ สิ่งที่สอนอันดับแรกคือ เราจะทำอะไรให้เมืองไทย ถ้าไม่มีความรับผิดชอบจะไปช่วยอะไรได้ สิ่งเหล่านี้ ฉันเป็นคนพูดออกมาไม่ใช่ท่าน แต่ถ้ามองดูแล้วเป็นอย่างนี้” ทรงเล่าว่า
  “ที่แม่สอนเรามาจากทูลกระหม่อมพ่อ พ่อแก่กว่าแม่แปดปี ทรงสั่งสอนแม่มาก และแม่ receptive ดีมาก...ท่านได้อะไรๆ จากทูลกระหม่อมพ่อมากมายเหลือเกิน ที่ท่านสอนที่พูดกับเรา ฉันไปพบทีหลังว่าถอดมาเลย เกือบจะเป็นคำพูดเดียวกับทูลกระหม่อมพ่อ” ทรงเล่าถึงความรู้สึกของพระองค์และสมเด็จพระอนุชาว่า
  “คล้ายกับเราได้รับการอบรมจากพ่อผ่านทางแม่ คือ กลับเมืองไทยต้องทำงาน ตั้งแต่เล็กเคยได้ยินแม่รับสั่งเรื่องต้องทำงานเพื่อเมืองไทยอยู่ตลอดเวลา”
  สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงปลูกฝังการศึกษาภาษาไทยเบื้องต้นและความรู้เรื่องประเทศไทยแก่พระโอรสธิดาที่ยังทรงพระเยาว์ โดยทรงกรุณาโปรดให้พระยาอนุศาสน์จิตรกร (จันทร์ จิตรกร) ซึ่งสอนอยู่ที่โรงเรียนเพาะช่างจัดทำบล็อคตัวอักษรภาษาไทยด้วยไม้ และทำ Jigsaw แผนที่ประเทศไทยมาถวาย ดังบทความเฉลิมพระเกียรติของนายขวัญแก้ว วัชโรทัย ที่ลงพิมพ์ในหนังสือ
“สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ซึ่งคณะแพทย์ศิริราชพยาบาลจัดพิมพ์ เล่าไว้ว่า
  “พระราชดำริในเชิงสร้างสรรค์อีกประการหนึ่งที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงพระราชดำริขึ้นตั้งแต่ครั้งที่พระโอรสธิดาทุกพระองค์ยังทรงพระเยาว์ และทรงอยู่ในวัยเรียน นั่นคือการเรียนรู้เรื่องแผนที่และการใช้แผนที่ กล่าวคือ เมื่อครั้งพระโอรสธิดาทั้ง 3 พระองค์ยังทรงพระเยาว์ ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้โรงเรียนเพาะช่างสมัยนั้นทำแผนที่ประเทศไทย โดยทำเป็นรูปต่อเลื่อยเป็นชั้นสี่เหลี่ยมเล็กๆ มีกล่องไม้พร้อมฝาปิดเปิดสำหรับใส่ด้วย เพื่อให้พระโอรสธิดาทั้ง 3 พระองค์ทรงเล่นเป็นเกมสนุก คล้ายการต่อรูปต่างๆ เป็นการทรงสอนให้รู้จักประเทศไทยและรู้จักการดูการใช้แผนที่ไปพร้อมกัน...นอกจากนี้ ยังได้โปรดให้ทำ Hard Board ด้วยกระดานแข็ง โรงเรียนเพาะช่างได้จัดทำถวายเรื่องปลาบู่ทอง”
  เนื่องจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีพระอนามัยไม่แข็งแรงมาตลอด ใน พ.ศ. 2476 สมเด็จพระบรมราชชนนีจึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พาพระโอรสธิดาทั้ง 3 พระองค์เสด็จพระทับ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อพระอนามัยและการศึกษา สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ทรงนิพนธ์ไว้ในหนังสือ “เจ้านายน้อยๆ – ยุวกษัตริย์” ว่า
  “การศึกษาในโรงเรียนไม่เป็นสิ่งที่เพียงพอให้เด็กโตขึ้นเป็นคนดี ครอบครัวตั้งแต่พ่อแม่ จนถึงพี่น้องกันเองมีส่วนสำคัญ เราสามคนเป็นกำพร้าพ่อมาตั้งแต่เล็กๆ ภาระของแม่จึงหนักมาก ต้องเป็นทั้งพ่อและแม่ ซึ่งแม่ก็ทำหน้าที่นี้มาอย่างเข้มแข็ง เมื่อมาถึงโลซานใหม่ๆ แม่ได้เขียนถึงสมเด็จย่าว่า
  ...ลูกของหม่อมฉัน หม่อมฉันรักอย่างดวงใจ และหม่อมฉันมีความตั้งใจอยู่เสมอที่จะนำให้ลูกไปในทางที่ถูกที่ดีสำหรับจะได้เป็นประโยชน์แก่ตัวเอง ญาติและบ้านเมือง ตัวของหม่อมฉันเองทำประโยชน์อะไรให้บ้านเมืองไม่ได้มาก แต่ถ้าได้ช่วยลูกๆ ให้ได้รับความอบรมและเล่าเรียนในสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองได้แล้ว หม่อมฉันก็จะรู้สึกอิ่มใจเหมือนกัน’...”
เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงกล่าวถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า

  “รัชกาลที่ 8 ได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน การเปลี่ยนแปลงก็เป็นการเปลี่ยนแปลงภายนอกมากกว่า เราต้องย้ายไปอยู่ที่หรูหรากว่า แทนที่จะอยู่แฟลตเล็กๆ ต้องมีราชองครักษ์ มีราชเลขาฯ ต้องรับแขก ต้องรู้จักอะไรมากขึ้นหน่อย คำพูดก็ต้องเปลี่ยนไป ต้องอะไรหลายอย่าง แต่ภายในยังเหมือนเดิม ความมุ่งหมายที่จะเป็นคนดียังเหมือนเดิม อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญกว่าการเปลี่ยนแปลงภายนอก คือ ท่าน (หมายถึงสมเด็จพระบรมราชชนนี) ได้ทำสิ่งที่เริ่มไว้แล้วคือตั้งแต่เมืองไทยจนถึงเมืองนอก เมื่อไปท่านก็ได้พูดไว้ว่าเรียนหนังสือให้ดี จะได้ความรู้มาช่วยประเทศ ช่วยคนไทย สงสารคนไทยที่ยังยากจนที่เคราะห์ร้ายกว่าเรามาก อันนี้เป็นการเตรียมต่อเนื่องจากเก่าไม่ใช่ของที่ใหม่”
  สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงอบรมพระราชโอรสธิดาทั้ง 3 พระองค์ด้วยหลักการแบบเดียวกันทรงจัดให้ทุกพระองค์ทรงอยู่ในสภาพแวดล้อมที่คล้ายคลึง ไม่ว่าจะเสด็จประพาสที่ใด มักเสด็จไปพร้อมกันทั้ง 3 พระองค์ แม้แต่การเล่นต่างๆ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล่าไว้ในพระนิพนธ์ “เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์” ว่า

“พี่น้องก็ช่วยกันหาความรู้โดยการเล่นต่างๆ เช่น เวลารับประทานอาหารจะเล่นทายอะไรกันต่างๆ บางพักก็จะเป็นเกมภูมิศาสตร์ บางพักก็จะเป็นเกมประวัติศาสตร์ แต่พระเจ้าอยู่หัวและพระอนุชาจะเล่นอะไรหลายอย่างซึ่งจะทำประโยชน์มาได้ภายหลัง...”
  นายขวัญแก้ว วัชโรทัย เล่าไว้ในเรื่อง “พระราชภาระแห่งความเป็นแม่” ว่า “สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงเล่าให้ฟังว่า เมื่อเจ้านายยังทรงพระเยาว์ ทรงถามปัญหาหรือเรื่องใดๆ ถ้าทรงทราบก็จะทรงตอบ ถ้าไม่ทรงทราบ มักจะทรงค้นหาจากพจนานุกรม หรือ Encyclopedia หรือตำรา แล้วจึงทรงตอบ ฉะนั้นจึงทรงสะสมตำรับตำรามากมาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจึงทรงสนับสนุนเรื่องสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน...”
   สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้พระราชทานสัมภาษณ์แก่คณะผู้เขียนหนังสือ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ของโครงการไทยศึกษา ฝ่ายวิชาการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ว่า

  “จำได้ว่ามาตอนหลังๆ แล้ว สมเด็จย่าเล่าให้ฟังว่า เมื่อท่านเลี้ยงลูกมา ถ้าเด็กๆ อยากทราบอะไร ถ้าเขาไม่แกล้งถามต้องตอบ ถ้าท่านไม่ทราบ ท่านจะเปิด Encyclopedia ตอบ เมื่อฉันโตแล้วเรียนอยู่ ม.ศ. 3 ม.ศ. 4 เวลาท่านมาประทับเมืองไทย วันเสาร์มาเสวยที่นี่ เวลาคุยกับท่าน ถ้าไม่รู้จะพูดลอยๆ ไม่ได้ ครั้งหนึ่งเคยพูดกันเรื่องเมฆชนิดต่างๆ ฉันจำชื่อเมฆไม่ได้ ท่านให้ไปเปิด Encyclopedia Britannica มาดูกันเลย”
   พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะกรรมการสโมสรไลออนส์สากลภาค 310 (ประเทศไทยและประเทศลาว) ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน เมื่อวันที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2512 ทรงกล่าวถึงประโยชน์ของสารานุกรมสำหรับเด็กที่ก่อให้เกิดแนวพระราชดำริในการจัดทำ สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชน ว่า

“เมื่อเด็กๆ มี Book of Knowledge ซึ่งเป็นชุด 20 เล่ม จำได้ว่าเป็นรุ่นเก่าทีเดียว เวลานั้นอ่านภาษาอังกฤษไม่รู้เรื่อง ต้องดูภาพแล้วก็ขอให้ผู้ใหญ่อ่านให้ฟัง มีทั้งของสำหรับเด็กอ่าน มีทั้งสิ่งที่หาง่าย ทั้งสิ่งที่หายาก และมีรูปภาพประกอบ ทำให้เกิดความคิด ได้ความคิดว่าวิชาต่างๆ มันรวมกัน ไม่ว่าวิชาทางด้านวิทยาศาสตร์ หรือในด้านอักษรศาสตร์ หรือประวัติศาสตร์ มันโยงกันหมด และต้องใช้ทั้งนั้น จะเรียนอะไรทางไหน จะสนใจทางไหน ความรู้นี้ต้องรวมกันหมด และยิ่งขวนขวายมากยิ่งขึ้น...”
  พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 8 และรัชกาลที่ 9 ทรงเป็นมากกว่าพี่น้อง ทรงเป็นเพื่อนที่รักกันมากกว่าเพื่อนอื่นๆ จะพอพระทัยในการเล่นด้วยกัน ถ้าเล่นอะไรก็จะเล่นอย่างจริงจัง และนานๆ โดยศึกษาอย่างดี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเล่าว่า

  “เมื่อสนพระทัยเรือรบตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ทรงซื้อหนังสือมาทรงศึกษา ทรงทราบถึงลักษณะของเรือและการรบทางทะเลของแต่ละลำดีมาก ทรงแบ่งกันเป็นชาติ รัชกาลที่ 8 ทรงเลือกของเยอรมัน รัชกาลที่ 9 ทรงเลือกของอังกฤษและอเมริกา
  “การถ่ายรูปเริ่มด้วยกัน แต่รัชกาลที่ 8 เลิกไปภายหลัง...”
  “สิ่งที่ทรงเล่นมาด้วยกันเป็นเวลานานคือดนตรี...”
  เมื่อสมเด็จพระบรมราชชนนีทรงเห็นว่าพระโอรสสนพระทัยทางด้านดนตรี ก็ทรงหาครูมาสอนวิชาการดนตรีถวายที่พระตำหนัก
หลังจากทรงปรึกษาหมอแล้วว่าไม่เป็นอันตรายต่อพระพลานามัยดังที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 ทรงเล่าพระราชทานคณะผู้จัดทำหนังสือ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” ว่า
  “ตอนแรกเมื่อทูลหม่อมพ่อ ทูลหม่อมลุงทรงเริ่มหัดดนตรีประเภทเครื่องเป่า เช่น แซกโซโฟน แคลริเนตนั้น สมเด็จย่าทรงสงสัยว่าจะมีผลต่อสุขภาพอย่างไร ก็ทรงปรึกษาหมอเพื่อให้รู้แน่ชัดว่าไม่เป็นอะไร เห็นได้ว่าท่านทรงทำอะไรตามหลักวิชา” และทรงเล่าอีกว่า
  “แผ่นเสียงเพลงที่โปรด ถ้าเป็นเพลงฟังเล่นๆ ก็ต้องซื้อเอง เพลง Classic เพื่อการศึกษาสมเด็จย่ายังคงซื้อให้”
เพราะสมเด็จพระบรมราชชนนีเอาพระราชหฤทัยใส่ในการศึกษาของพระโอรสธิดาอย่างจริงจังเช่นนี้เอง หนังสือ “สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี” จึงกล่าวถึงการศึกษาของสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ว่า
  “สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการศึกษา ในการสอบเลื่อนชั้นแต่ละปี ทรงทำคะแนนได้ผลงดงามมาก ใน พ.ศ. 2485 ทรงสอบผ่านชั้นสุดท้ายเทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนปลายได้ดีเยี่ยม เป็นที่ 1 ของโรงเรียน และเป็นที่ 3 ของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในปีนั้นก็ทรงเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยโลซาน ทรงศึกษาวิชาเคมี...”
  ขณะที่พระบาทสมเด็จพระพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงเข้าศึกษาวิชากฎหมายในมหาวิทยาลัยโลซานอยู่อย่างขะมักเขม้นนั้น ได้ทรงศึกษาเรื่องบ้านเมืองไทยกับพระอาจารย์ที่รัฐบาลจัดส่งไปถวายพระอักษรด้วย ดังหลักฐานรายงานการทรงพระอักษรและการส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ณ ต่างประเทศตอนหนึ่ง มีว่า
  “...ถวายให้ทรงหัดอ่านเขียน เขียนตามคำบอก เวลานี้ทรงอ่านภาษาไทยได้ดีแล้ว จักได้ถวายให้ทรงศึกษาในอักขรวิธีและไวยากรณ์ต่อไปตามลำดับ เก็บใจความจากพุทธประวัติ ปฐมสมโพธิ พระราชพงศาวดาร หลักภาษาไทย ประวัติศาสตร์สากลมาเล่าถวาย รู้สึกว่าทรงสนพระราชหฤทัยมาก...”
  เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลง ขณะที่ประเทศไทยต้องเผชิญกับปัญหาหลายประการ ทั้งในทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนีและสมเด็จพระอนุชาได้เสด็จนิวัติพระนคร ในวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2488 เพื่อเยี่ยมประชาชนชาวไทยเป็นครั้งที่ 2 การเสด็จนิวัติครั้งนี้เปรียบประดุจน้ำทิพย์ที่มาชโลมใจชาวไทยทั้งปวงให้มีพลังต่อสู้กับภาวะความเดือดร้อนลำเค็ญที่เกิดขึ้นในขณะนั้น
  ระหว่างที่ประทับอยู่ในประเทศไทย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้ทรงประกอบพระราชกรณียกิจมากมายหลายประการที่ยังจารึกอยู่ในความทรงจำของประชาชนชาวไทยประการสำคัญคือ ทรงดำรงเกียรติภูมิของชาติด้วยการเสด็จพระราชดำเนินตรวจพลสวนสนามของกองทัพสัมพันธมิตรที่เข้ามาปลดอาวุธทหารญี่ปุ่น พร้อมกับลอร์ดหลุยส์ เมานท์แบตแตน ณ ท้องสนามหลวงและถนนราชดำเนิน ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยยังเป็นเอกราช มิได้ถูกยึดครองโดยฝ่ายสัมพันธมิตรดังที่คนไทยทั่วไปกำลังวิตกกันอยู่
  เมื่อหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ไทยทำให้ต้องทรงเป็นจอมทัพด้วย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลจึงโปรดเกล้าฯ ให้พระบรมวงศ์ที่เป็นทหารมาถวายความรู้เกี่ยวกับวิชาทหารอาทิตย์ละ 2 ชั่วโมง ดังพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เล่าพระราชทานแก่คณะบุคคลที่เข้าเฝ้าฯถวายพระพรชัยในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตาลัย สวนจิตรลดา เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2526 ว่า
  “เมื่อพระชนมายุ 20 เสด็จนิวัติพระนคร พ่อของข้าพเจ้า ขณะนั้นเป็นแค่หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร สำเร็จมาจากฝรั่งเศส สำเร็จมาตั้งแต่ท่านอายุ 30 จากโรงเรียนนายร้อย “แซนซี” และ “เอคอลเดอร์แกร์” ซึ่งเป็นโรงเรียนเสนาธิการ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล โปรดเกล้าฯ ให้พ่อของข้าพเจ้าเฝ้าเพื่อถวายการสอนวิชาการทหาร โดยรับสั่งว่า เราเป็นจอมทัพ ถ้าจะไม่รู้เกี่ยวกับกิจการของทหารนี่ไม่ดี การที่เป็นพระเจ้าแผ่นดินแล้วเป็นจอมทัพ และต้องรู้ทุกสิ่งทุกอย่างสาขา แม้แต่อย่างละเล็กอย่างละน้อยก็ดี ตกลงพ่อไปสอนวิชาการทหารตามแนวแผนใหม่ของสมัยนั้น และพระองค์เจ้าอลงกฎ เจ้านายอีกพระองค์ไปสอนประวัติกองทัพไทย ส่วนพ่อนั้นกราบบังคมทูลเป็นภาษาฝรั่งเศส ทรงศึกษาอาทิตย์ละ 2 ชั่วโมงในเรื่องกิจการทหาร และก็รับสั่ง พ่อเล่าว่า มีความรู้สึกว่าทรงถือเป็นหน้าที่สำคัญยิ่งสำหรับพระองค์ทั้งชีวิตจิตใจของท่าน หน้าที่พระมหากษัตริย์นี่สำคัญที่สุด...”
  แม้แต่การศึกษาทางด้านพระพุทธศาสนา ในฐานะที่ทรงเป็นพระพุทธศาสนิกชนและจะเป็นพุทธศาสนูปถัมภกต่อไป พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีพระราชประสงค์จะทรงผนวชในพระพุทธศาสนา เมื่อทรงศึกษาปริญญาเอกทางกฎหมายสำเร็จแล้ว ดังพระราชหัตถเลขาลงวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2489 ว่า
  ทูลสมเด็จพระสังฆราช ด้วยหม่อมฉันมีประสงค์ใคร่จะได้อ่านแนวการศึกษาทางพระพุทธศาสนาเพื่อเป็นการเตรียมตัวและช่วยเหลือในการที่จะอุปสมบทในกาลต่อไป ครั้นจะค้นหาอ่านจากตำราจำนวนมากก็มีเวลาน้อย ถ้าจะได้รับสังฆราชานุเคราะห์ให้ได้ศึกษาจากตำราง่ายๆ และเป็นทางลัดโดยจัดขึ้นมาเป็นกัณฑ์ๆ ไม่มากมายนัก พอหาโอกาสอ่านได้เดือนละกัณฑ์ กว่าจะถึงเวลาอุปสมบทของหม่อมฉันก็จะได้รับความสะดวก หนังสือเรื่องนี้ต้องการได้อ่านในเวลาพักอยู่ในเมืองไทย และแม้ไปพักอยู่ในต่างประเทศ จึงทูลขอพระดำริและสังฆราชานุเคราะห์มา
  ขอถวายนมัสการ
  อานันทมหิดล
  สมเด็จพระสังฆราชได้ทรงนิพนธ์เรื่อง “บวช” ถวาย แต่พระองค์ไม่ได้ผนวชตามที่ตั้งพระราชหฤทัยไว้ เพราะสวรรคตเสียก่อน

 

มูลนิธิถันยรักษ์

  มูลนิธิถันยรักษ์ (Breast Foundation) เป็นมูลนิธิสุดท้ายที่สมเด็จย่า ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2537 ด้วยทรงตระหนักว่าผู้หญิงไทยที่เป็นมะเร็งเต้านมมีจำนวนสูงมาก และต้องทุกข์ทรมานทั้งร่างกายและจิตใจ อีกทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาสูง และใช้เวลานาน เป็นการบั่นทอนกำลังกายและกำลังใจของผู้ป่วยและครอบครัว ถ้าผู้หญิงไทยมีโอกาสได้เข้าใจถึงอันตรายจากโรคมะเร็ง และรู้จักวิธีดูแลป้องกันตัวเองให้ถูกต้อง สามารถค้นพบก้อนมะเร็งและรักษาได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรกก็สามารถจะลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยด้วยโรคนี้ได้ ทำให้ผู้หญิงไทยมีคุณภาพชีวิตที่สูงขึ้น 

ดังนั้น สมเด็จย่า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินจาก “ทุนการกุศลสมเด็จย่า” จำนวน 12 ล้านบาท เป็นทุนก่อตั้งมูลนิธิ พระราชทานชื่อว่า “ถันยรักษ์” และรับไว้ในพระราชูปถัมภ์ โดยทรงเป็นองค์ประธานกิตติมศักดิ์ และสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงเป็นองค์ประธาน   มูลนิธิถันยรักษ์ ได้จัดตั้งศูนย์ถันยรักษ์ขึ้นที่โรงพยาบาลศิริราช เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. 2538 เพื่อใช้เป็นสถานที่ตรวจวินิจฉัยเต้านม เป็นศูนย์อิสระที่ดำเนินงานโดยใช้เงินจากมูลนิธินี้ และได้รับความร่วมมือจากโรงพยาบาลศิริราชเรื่องสถานที่และแพทย์จากคณะต่างๆ คือ รังสีแพทย์ ศัลยแพทย์และพยาธิแพทย์ มูลนิธิฯ ได้นำเงินพระราชทานและเงินบริจาคไปจัดซื้อเครื่องเอกซเรย์เต้านม แมมโมแกรม (Mammogram) เครื่องอุลตราซาวด์ (Ultrasound) และเครื่องตรวจเจาะชิ้นเนื้อ (Stereotactic Core Biopsy) ที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้น และนำแพทย์และเจ้าหน้าที่เทคนิคผู้เชี่ยวชาญเรื่องตรวจวินิจฉัยมะเร็งเต้านมจากต่างประเทศมาฝึกสอนรังสีแพทย์และเจ้าหน้ารังสีเทคนิคของโรงพยาบาลศิริราชและโรงพยาบาลอื่นๆ ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด   นอกจากนี้ ศูนย์ถันยรักษ์ยังได้เผยแพร่ความรู้เรื่องมะเร็งเต้านมและการตรวจเต้านมด้วยตนเองและร่วมมือกับโรงพยาบาลในการพัฒนาคุณภาพของการตรวจวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับเต้านมด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย ฝึกอบรมรังสีแพทย์และเจ้าหน้าที่รังสีเทคนิคทั่วประเทศ ตามพระราชปณิธานที่จะให้ผู้หญิงไทยรอดพ้นอันตรายจากโรคมะเร็งเต้านม โดยได้รับความรู้ความเข้าใจและการป้องกันตัวเองที่ถูกต้อง รวมทั้งได้รับการตรวจวินิจฉัยจากศูนย์ถันยรักษ์โดยเท่าเทียมกัน

 

โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน

  การเสด็จประพาสหัวเมือง เพื่อทรงเยี่ยมตำรวจตระเวนชายแดนและประชาชนใน พ.ศ. 2507 ทำให้สมเด็จย่าทรงพบเห็นการขาดแคลนโรงเรียนสำหรับเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร และได้ทรงทราบถึงโครงการจัดตั้งโรงเรียนชาวเขาและประชาชนไกลคมนาคมที่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนเขต 5 ค่ายดารารัศมี อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งโรงเรียนดังกล่าวขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2499 เพื่อให้เยาวชนที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารห่างไกลคมนาคม ได้รับการศึกษาตามพระราชบัญญัติประถมศึกษา เฉพาะในพื้นที่ที่หน่วยงานที่มีความรับผิดชอบเกี่ยวกับการประถมศึกษาโดยตรงยังเข้าไปดำเนินการไม่ถึง ทั้งนี้ เพื่อช่วยให้ชาวเขาและประชาชนไกลคมนาคมรู้หนังสือไทย รู้ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมไทย และให้มีความสำนึกว่าเป็นคนไทย
  สมเด็จย่าทรงพระดำริว่า การศึกษาเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สำคัญประการหนึ่งในการพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพ เพื่อเป็นรากฐานที่ดีของการพัฒนาประเทศ ดังนั้น จึงทรงรับโครงการ โรงเรียนชาวเขาและประชาชนไกลคมนาคม ไว้ในพระอุปถัมภ์ในปลายพ.ศ. 2507 ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวายโดยเสด็จพระราชกุศลแก่กองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดน เพื่อนำไปจัดสร้างโรงเรียนชาวเขาและประชาชนไกลคมนาคมกระจายไปทั่วทุกภาคของประเทศเป็นจำนวนถึง 185 แห่ง ในจำนวนนี้ เป็นโรงเรียนที่สร้างจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ 29 แห่ง เป็นต้นว่า โรงเรียนอานันท์ โรงเรียนสระปทุม โรงเรียนสว่างวัฒนา โรงเรียนมหิดล โรงเรียนสังวาลย์วิทยา โรงเรียนทัศนาวลัย ฯลฯ   ส่วนโรงเรียนพระราชทานที่สร้างจากเงินที่มีผู้ทูลเกล้าฯ ถวาย สมเด็จพระบรมราชชนนีได้พระราชทานชื่อโรงเรียนตามชื่อบุคคลหรือชื่อหน่วยงานของผู้โดยเสด็จพระราชกุศล เช่น โรงเรียนสมาคมศิษย์เก่าราชินี โรงเรียนเบ็ตตี้ ดูเมน โรงเรียนจุฬา – ธรรมศาสตร์ โรงเรียนสุทธสิริโสภา โรงเรียนศิษย์เก่าพยาบาลศิริราช โรงเรียนสื่อมวลชนกีฬาและโรงเรียนโรตารี่กรุงเทพ เป็นต้น 

โรงเรียนพระราชทานแต่ละแห่งนอกจากจะมีอาคารเรียนแล้ว ยังมีบ้านพักครูรวมอยู่ด้วยอีก 1 หลัง เพื่อให้ครูมีที่อยู่อาศัยที่สะดวกสบายพอสมควร เมื่อโรงเรียนแต่ละแห่งสร้างเสร็จ สมเด็จพระบรมราชชนนีจะเสด็จฯ ไปทรงเปิดโรงเรียนพระราชทานเหล่านั้นด้วยพระองค์เองทุกแห่ง อีกทั้งยังได้พระราชทานอุปกรณ์การเรียนที่จำเป็นต่างๆ เป็นอันมาก ที่สำคัญก็คือ ได้พระราชทานแนวพระดำริในอันที่จะปลูกฝังความเป็นไทย และความจงรักภักดีต่อสถาบันสำคัญของชาติ คือ ชาติ ศาสนา  พระมหากษัตริย์ อันจะยังผลให้เกิดความสมัครสมานสามัคคีของคนในชาติ ให้แก่เยาวชนของชาติเสียตั้งแต่เยาว์วัย เหมือนดังที่ทรงปลูกฝังพระโอรสธิดาได้รับความสำเร็จมาแล้ว  สมเด็จย่าทรงพระกรุณาพระราชทาน พระพุทธรูป ภปร. พระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และธงชาติ ประจำไว้ทุกโรงเรียน โรงเรียนละหนึ่งจุด ธงชาติเป็นเครื่องหมายเตือนตาเตือนใจให้เด็กนักเรียนได้คุ้นเคยและจดจำสิ่งเป็นสัญลักษณ์ของชาติ พระพุทธรูปเป็นเครื่องสอนให้ระลึกเสมอว่า ศาสนาประจำชาติของตนคือพระพุทธศาสนา ที่มีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระบรมศาสดา พระบรมฉายาลักษณ์ ย่อมเตือนตาเตือนใจเด็กนักเรียน ให้จดจำรำลึกถึงองค์พระประมุขของชาติ แม้ว่าพวกเขาอยู่ห่างไกลไม่มีโอกาสได้เฝ้าชมพระบารมีอย่างใกล้ชิด แต่พวกเขาก็สามารถรู้จักและจดจำพระองค์ได้จากพระบรมฉายาลักษณ์ที่อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในโรงเรียน เป็นการเสริมสร้างความจงรักภักดีต่อองค์พระประมุขของชาติ นอกจากนี้ยังพระราชทานวิทยุสำหรับรับฟังข่าวสารไว้ทุกโรงเรียนอีกด้วย สิ่งที่สมเด็จย่าทรงมีแนวพระราชดำริจะปลูกฝังเด็กไทยตามแนวชายแดนเหมือนดังที่ทรงปลูกฝังพระโอรสธิดาทุกพระองค์ครั้งทรงพระเยาว์และทรงอยู่ในวัยเรียนก็คือ การเรียนรู้เรื่องแผนที่ พระองค์ได้ทรงพระกรุณาโปรดให้กองอุปกรณ์การศึกษา กระทรวงศึกษาธิการจัดทำแผนที่ประเทศไทยขนาดใหญ่พอประมาณ โดยตัดแบ่งออกเป็นส่วนๆ เน้นเฉพาะจังหวัดชายแดนต่างๆ พร้อมทั้งมีหมุดติดไว้ที่ส่วนนั้นๆ ให้สามารถดึงออกมาได้ เป็นการสะดวกต่อการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนว่าจังหวัดของเขาอยู่ตรงส่วนไหนของประเทศไทย เป็นการเน้นให้นักเรียนโรงเรียนชายแดนทุกแห่งทราบว่าตนเองเป็นคนไทย มีถิ่นฐานอาศัยอยู่ในประเทศไทย ทั้งๆ ที่บางแห่งพูดภาษาถิ่นแตกต่างกันไปตามภูมิภาคก็ตาม

 

ด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

  สมเด็จย่าโปรดต้นไม้ ดอกไม้ โปรดธรรมชาติและโปรดการปีนเขา ดังจะเห็นว่าเวลาประทับอยู่ที่สวิตเซอร์แลนด์มักจะเสด็จไปทรงสกีในฤดูหนาว พอถึงฤดูร้อนก็เสด็จไปเก็บดอกไม้ตามภูเขามาใส่แจกันในที่ประทับ หรือทับเป็นดอกไม้แห้งทำเป็นการ์ด
การเสด็จไปประทับที่ตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์พร้อมพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

ใน พ.ศ. 2507 สมเด็จพระบรมราชชนนีได้เสด็จพิชิตยอดดอยอินทนนท์ ภูเขาสูงที่สุดในประเทศไทยขณะมีพระชนมายุ 64 พรรษา สมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงนิพนธ์ไว้ในคำปรารภหนังสือ “สมเด็จย่าของปวงชน” ว่า
  “ในปีนั้นได้ทรงพระดำเนินตามเขาตามป่ารอบๆ พระตำหนักภูพิงคฯ ทรงพระดำเนินคล่องแคล่วจึงเสด็จไปได้ไกล จะเสด็จออกทางประตูหลังซึ่งตำรวจตระเวนชายแดนเป็นผู้รักษาและตามเสด็จไป ทำให้ทรงคุ้นเคยกับ ต.ช.ด. อย่างดี มีแพทย์ตามเสด็จไปด้วย 2 คน เมื่อได้เสด็จไปเสียทุกหนทุกแห่งแล้วก็เกิดความอยากที่จะพิชิตจุดสูงสุดของประเทศไทย คือ ดอนอินทนนท์ซึ่งทอดพระเนตรจากภูพิงคฯทุกวัน ในเวลานั้นยังไม่มีถนนขึ้น จึงต้องใช้เวลานานมากในการที่จะไต่ขึ้นไปถึงยอดได้ ทรงค้าง 2 คืน ในตอนขึ้นไปทรงค้างคืนที่สถานที่ซึ่งเรียกกันต่อมาว่า “ปวงสมเด็จ” แล้วจึงเสด็จขึ้นไปที่ยอดเขา ขาลงทรงค้างคืนที่บ้านผาหมอน ที่บ้านนี้มีชาวเขามาเฝ้าจำนวนมาก เมื่อได้ทอดพระเนตรเห็นว่ามีประชาชนชาวเขาที่อยู่ห่างไกลจากแพทย์และการรักษาอย่างแผนปัจจุบัน จึงได้ทรงพระดำรินำแพทย์ไปถึงพวกเขา ในปี 2508 ได้เสด็จไปประทับแรมที่ตีนดอยอินทนนท์และทรงนำแพทย์ไป 2 คน ปีต่อๆมา สมเด็จย่าเสด็จไปเยี่ยมหมวดทหาร ตำรวจตระเวนชายแดนและหมู่บ้านในถิ่นทุรกันดารหลายแห่งโดยเฮลิคอปเตอร์ บรรดาชาวไทยภูเขาตามดอยต่างๆ จึงขานพระนามว่า “แม่ฟ้าหลวง” ซึ่งมีความหมายว่า “แม่ที่สวรรค์เบื้องบนประทานมาให้” เป็นการอธิบายถึงการเสด็จฯ มาเยือนด้วยเครื่องเฮลิคอปเตอร์ที่ลงมาจากท้องฟ้า ทรงมีหมอ พยาบาล เครื่องมือแพทย์ อาหารและเสื้อผ้ามาอีกด้วย เมื่อทรงหมดภารกิจในการช่วยเหลือพวกเขา ก็ทรงขึ้นเฮลิคอปเตอร์ที่มีเสียงดังปานฟ้าลั่นบินหายไปจากท้องฟ้านั้น

  จากการเสด็จฯ ไปเยี่ยมตำรวจตระเวนชายแดน ทหาร และชาวไทยภูเขาแทบทุกเผ่าทุกดอยในภาคเหนือทุกปีเป็นเวลายาวนาน สมเด็จย่าได้ทรงพบว่า ชาวไทยภูเขาตามชายแดนต้องดิ้นรนหาเลี้ยงชีพในทางที่ไม่สมควรโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เช่น ตัดไม้ทำลายป่าต้นน้ำลำธาร เผาป่าเพื่อทำไร่เลื่อนลอย หรือปลูกพืชเสพติด เมื่อดินจืดก็ย้ายถิ่นไปเรื่อยๆ จนดอยต่างๆ มีสภาพเป็นภูเขาหัวโล้นอยู่ทั่วไป สมเด็จย่าจึงทรงมีพระราชปณิธานอันแรงกล้าที่จะทรงปลูกป่าฟื้นฟูสภาพธรรมชาติที่สูญเสียไปให้กลับฟื้นคืนดีเหมือนดังเดิม
  แล้ววันหนึ่ง สมเด็จย่ามีพระราชปรารภว่า “จะปลูกป่าบนดอยตุง” เพื่อฟื้นฟูสภาพธรรมชาติ โครงการพัฒนาดอยตุง ก็เริ่มต้น และดำเนินการด้วยความร่วมมือร่วมใจของทุกฝ่าย ที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ พ.ศ. 2531 เป็นต้นมา เพื่อพัฒนาพื้นที่ดอยตุง 93,515 ไร่ (ประมาณ 150 ตารางกิโลเมตร) ในเขตอำเภอเมืองแม่จัน กิ่งอำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอแม่สายจังหวัดเชียงราย ให้เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรตามแผนพัฒนาที่ต่อเนื่องอย่างเป็นระบบ
  สมเด็จย่าทรงสร้าง พระตำหนักดอยตุงขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ในพื้นที่ขอเช่าจากกรมป่าไม้เป็นเวลา 30 ปี บริเวณบ้านอีก้อป่ากล้วย เนื้อที่ 29 ไร่ 3 งาน มีความสูงกว่าระดับน้ำทะเลปานกลาง 1,000 เมตร ทัศนียภาพที่แลเห็นจากด้านหน้างดงามด้วยเทือกเขานางนอนและทุ่งราบระหว่างอำเภอแม่สายกับแม่จันดูเวิ้งว้างสุดสายตาละม้ายกับภูมิทัศน์ที่มองเห็นจากพระตำหนักที่ประทับเมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทรงเรียกพระตำหนักนี้ว่า “บ้านที่ดอยตุง” และรับสั่งว่า “ถ้าไม่มีโครงการพัฒนาดอยตุง ก็ไม่มาสร้างที่นี่ ไม่มาอยู่ที่นี่” ได้เสด็จแปรพระราชฐานมาประทับที่พระตำหนักดอยตุงเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2531 การทรงงานเพื่อพลิกฟื้นคืนสภาพป่าของดอยตุงก็เริ่มขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
  ดอยตุง เป็นขุนเขาลูกหนึ่งของเทือกดอยนางนอนที่ทอดตัวไปตามแนวพรมแดนไทย – พม่า หากมองรูปสัณฐานจากที่ราบบนเส้นทางระหว่างอำเภอแม่จันกับอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย จะแลดูคล้ายหญิงสาวนอนทอดตัวเหยียดยาวทางเหนือสู่ทางใต้ ดอยตุงอยู่ตรงส่วนใบหน้าของเทือกเขาดอยนางนอน บนยอดของดอยตุงเป็นที่ประดิษฐาน พระธาตุดอยตุง ปูชนียสถานสำคัญแห่งหนึ่งของภาคเหนือ ชื่อ ดอยตุง ตรงกับภาษาภาคกลางว่า ดอยธง มีที่มาจากตำนานการสร้างพระธาตุดอยตุงนั่นเอง