การจัดแสดงพิพิธภัณฑ์

  พิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทั้งสองหลัง ได้อนุรักษ์และปรับปรุงจากตึกแถวซึ่งเป็นทิมบริวารที่ล้อมรอบบ้านของเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์รัตนราชโกษาธิบดี (แพ บุนนาค) โดยมีนายศุภชัย นาคทอง สถาปนิก กรมศิลปากร เป็นผู้ควบคุม
  อาคารก่อสร้างแบบผสมระหว่างสถาปัตยกรรมไทยและสถาปัตยกรรมจีน เป็นอาคารชั้นเดียวตัวอาคารก่ออิฐถือปูน ขนาดกว้าง 7 เมตร 45 เซนติเมตร ยาว 21 เมตร 40 เซนติเมตร ประตูหน้าต่างและเครื่องไม้อื่น ๆ นำมาจากบ้านเจ้าพระยาศรีพิพัฒน์ซึ่งจำเป็นต้องรื้อ เพราะตั้งอยู่กลางสวน และหากจะอนุรักษ์ไว้จะต้องสิ้นเปลืองงบประมาณมาก จึงต้องขยายขนาดกรอบประตู หน้าต่างรวมทั้งเพิ่มความสูงของอาคาร มีชั้นคอสองและหลังคาชั้นลดอีกชั้นหนึ่ง สูงจากเดิม 30 เซนติเมตร หลังคามุงด้วยกระเบื้องดินเผาไม่เคลือบสี ช่องแสงช่วงคอสองและที่ตอนบนของผนังด้านหลังกรุด้วยกระจกใส ภายในอาคารโล่งว่างสำหรับจัดแสดงนิทรรศการและพิพิธภัณฑ์ ช่วงต้นไม้ใหญ่ที่อนุรักษ์แต่งหักมุกเข้ามา ให้ต้มไม้อยู่ภายนอก และใช้ผนังกระจกเพื่อให้ต้นไม่ใหญ่ที่รากชอนไชเกาะผนังอาคารเดิมไว้อย่างมั่นคง สีของอาคารเดิมเป็นสีขาวได้เปลี่ยนให้มีสภาพเข้ากับสวน เป็นสีชมพูอ่อน กรอบวงกบประตูสีเขียวติดตั้งเครื่องปรับอากาศทั้งหลัง พร้อมทั้งอุปกรณ์ไฟฟ้า เครื่องป้องกันภัยสัญญาณเตือนภัยอย่างครบครัน
  อาคารทั้งสองหลัง เป็นที่จัดแสดง โดยภัณฑารักษ์ กรมศิลปากร รับผิดชอบดำเนินการ มีนางวัลภา ขวัญยืน เป็นผู้วางเค้าโครงเนื้อหาการจัดแสดงไว้ก่อน และนายสมชาย ณ นครพนม รับผิดชอบดำเนินการจัดแสดงต่อ โดยจัดทำรายละเอียดเนื้อหา กำหนดรูปแบบการนำเสนอมีนางสมลักษณ์ เจริญพจน์ เป็นผู้ให้คำปรึกษา ซึ่งแนวความคิดในการนำเสนอของภัณฑารักษ์นี้สอดคล้องกับครุภัณฑ์ และโสตทัศนูปกรณ์ต่าง ๆ ที่นางสาวอัจฉรา ถาวรมาศ มัณฑนากร กรมศิลปากรได้ออกแบบจัดแสดงเป็นนิทรรศการถาวรของพิพิธภัณฑ์


 

อาคารหลัง A ห้อง "สร้อยสังวาลย์สวรรค์" จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชประวัติของสมเด็จย่า อาทิ เรื่องราวพระราชประวัติเมื่อครั้งทรงพระเยาว์ พระราชประวัติด้านการศึกษาด้านต่างๆ เพื่อนำวิชาความรู้มาพัฒนาประเทศ ให้เกิดความเจริญก้าวหน้า และย้อนรอยค่ำคืนประวัติศาสต์อันตราตรึงใจของชาวไทย เมื่อครั้งสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมขุนสงขลานครินทร์ (พระยศในขณะนั้น) แรกพบกับ นางสาวสังวาลย์ (พระนามเดิม) ณ สถานีรถไฟเซาท์สเตชั่น กรุงบอสตัน ซึ่งเป็นนักเรียนทุนพยาบาลไปศึกษาต่อยังประเทศสหรัฐอเมริกา จึงเกิดเป็น “คืนแห่งรักแรกพบ”  พร้อมทั้งจัดแสดงนิทรรศการประวัติชุมชนวัดอนงคารามย่านคลองสาน ซึ่งเป็นย่านนิวาสสถานเดิม (บ้านเดิม) เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี โดยถ่ายทอดเรื่องราวลักษณะของตัวบ้านซอยช่างทองบ้านหลังแรกที่ทรงเคยพำนักอยู่ ตลอดจนการดำเนินพระชนม์ชีพของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อันเป็นต้นแบบแห่งความเรียบง่ายและพอเพียง

 

อาคารหลัง B ห้อง "สร้างสรรค์สว่างไสว" จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับครอบครัวมหิดล เมื่อครั้งทรงประทับอยู่ ณ วังสระปทุม และการเดินทางไปยังเมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ บรรยากาศทัศนียภาพพระตำหนักดอยตุง พระราชกรณียกิจของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อาทิ โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ พื้นที่ทรงงานต่างๆ โครงการพัฒนาดอยตุง โครงการฟื้นฟูป่าพัฒนาคุณภาพชีวิต ทุนการกุศลสมเด็จย่า การเสด็จประพาสหัวเมือง ตลอดจนพระราชจริยวัตรอันงดงามเรื่องของการบริหารเวลาให้เกิดประโยชน์ ดั่งพระราชดำรัส “เวลาเป็นของมีค่า” ซึ่งเป็นแบบอย่างของการใช้เวลาอย่างรู้คุณค่า